วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

Plant Statnol กับผลการลดไขมันโคเลสเตอรอล


บทความข้างล่างนี้ คัดลอกมาจาก

“แพลนท์ สตานอล” นวัตกรรมใหม่จากฟินแลนด์น่าทึ่งด้วยคุณสมบัติลดโคเลสเตอรอลได้ถึง 15%
Wednesday, 17 December 2008 10:37 --สุขภาพ
กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
http://www.newswit.com/news/2008-12-17/5d30c61aa6fa0a6d317342f343973962/


ซึ่งผมเห็นว่ามีรายละเอียดดี ถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่วนผมจะให้ความเห็นภายหลังครับ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปัญหาโคเลสเตอรอลสูง เป็นต้นเหตุสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคร้ายอื่นๆ ทั้งหัวใจวายและเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้มีการวิจัยกันอย่างแพร่หลายเพื่อหาวิธีที่จะลดโคเลสเตอรอล ซึ่งการวิจัยที่ประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกนั้นเกิดขึ้นที่ประเทศฟินแลนด์ ที่มีการค้นพบ “แพลนท์ สตานอล” (Plant Stanol) ซึ่งเป็นสารสกัดที่มีอยู่ในข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวไรย์ และพืชอื่นๆ จากธรรมชาติ ที่ช่วยลดโคเลสเตอรอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ การคิดค้น แพลนท์ สตานอล ในฟินแลนด์ เกิดขึ้นในปี 1972 ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวฟินแลนด์มีปัญหาโคเลสเตอรอลสูง ส่งผลให้คนวัยทำงานเสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด สูงที่สุดในโลก รัฐบาลฟินแลนด์จึงเร่งหามาตรการแก้ปัญหานี้ โดยมีภาครัฐและเอกชน ร่วมใจกันรณรงค์ลดโคเลสเตรอล และรัฐบาลยังได้ระดมผู้เชี่ยวชาญมาคิดค้นวิจัยสารสกัดที่จะช่วยลดโคเลสเตอรอล จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ สามารถค้นพบ แพลนท์ สตานอล ทำให้โครงการรณรงค์ลดโคเลสเตอรอลของฟินแลนด์ประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ ภายใน 5 ปี อัตราการตายของชาวฟินแลนด์จากโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ในวัยทำงานลดลงถึง 70% และ องค์การอนามัยโลกยังได้จัดอันดับคุณภาพของประชากรชาวฟินแลนด์ให้ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งต่อมา ไรซิโอ กรุ๊ป บริษัทยักษ์ใหญ่ในฟินแลนด์ ได้พัฒนาแพลนท์ สตานอล ให้อยู่ในรูปของผง ของเหลวและขี้ผึ้ง เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารตามความเหมาะสม โดยจดชื่อแบรนด์ของเพลนท์ สตานอลทั้ง 3 รูปแบบนี้ว่า เบเนคอล (Benecol) ซึ่งความสำเร็จในการลดโคเลสเตอรอลของเบเนคอลทำให้แบรนด์นี้ได้รับการยอมรับในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านลดโคเลสเตอรอลจนถึงปัจจุบัน งานวิจัยทางการแพทย์กว่า 40 ชิ้น ระบุว่า หากรับประทาน แพลนท์ สตานอล อย่างต่อเนื่องจะช่วยลดโคเลสเตอรอลชนิดเลวซึ่งไม่ดีต่อร่างกาย (Low-density lipoprotein - LDL) ได้ถึง 15% สำหรับระยะในแสดงผลนั้น ได้มีการทำวิจัยซึ่งปรากฏผลที่น่าทึ่งนั่นคือหลังจากรับประทานแพลนท์ สตานอล อย่างต่อเนื่อง เราจะเห็นผลได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 เป็นต้นไป

การศึกษาแบบทดลองสุ่มตัวอย่างแบบ Double Blind เพื่อช่วยลดความแปรผันของตัวแปรต่างๆ ยังแสดงให้เห็นว่า การรับประทาน แพลนท์ สตานอล จะช่วยลดโคเลสเตอรอลรวมและโคเลสเตอรอลชนิดเลว แต่ไม่ลดโคเลสเตอรอลชนิดดี (High-density lipoprotein - HDL) หรือมีผลกระทบใดๆ ต่อระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ การทำงานของ แพลนท์ สตานอล นั้น สามารถอธิบายได้ว่า เมื่อโคเลสเตอรอลถูกดูดซึมจากลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด (การดูดซึมนี้จะเกิดขึ้นบริเวณส่วนบนของลำไส้เล็ก ซึ่งเรียกว่ามิกส์ ไมเซลส์ (Mixed micelles)) จะเกิดปฏิกิริยา 2 อย่าง ที่ช่วยยับยั้งการดูดซึมโคเลสเตอรอล ปฏิกิริยาแรกเกิดขึ้นในลำไส้ โดยแพลนท์ สตานอล จะไปแทนที่โคเลสเตอรอลจากมิกส์ ไมเซลส์ โคเลสเตอรอลที่ไม่ได้เข้ารวมตัวกับมิกส์ ไมเซลส์ จะไม่ถูกดูดซึมแต่จะถูกขับออกจากร่างกายในรูปของอุจจาระ ปฏิกิริยาที่ 2 เกิดขึ้นในเอ็พอิเธ็ทเลียลเซลล์ (epithelial cells) ในผนังลำไส้เล็ก โดยแพลนท์ สตานอล จะถูกนำเข้าไปในเอ็พอิเธ็ทเลียลเซลล์ และกระตุ้นทรานสปอร์เทอร์ โปรตีน (transporter proteins) ให้นำโคเลสเตอรอลจากเอ็พอิเธ็ทเลียลเซลล์ กลับเข้าสู่ลำไส้

นักวิจัยที่ชื่อว่า ฮอลลิไคเน็น (Hallikainen MA) และคณะ ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ โดยใช้ แพลนท์ สตานอล เป็นส่วนหนึ่งใน A US National Cholesterol Education Pragram (NCEP) Step II Diet โดยให้มีการบริโภคขนมปังไขมันต่ำผสมแพลนท์ สตานอล ที่สกัดจากไม้ 2.3 กรัม พบว่า สามารถลดโคเลสเตอรอลได้ถึง 23.6% เมื่อใช้ร่วมกับการควบคุมอาหาร ในขณะที่ถ้าใช้วิธีควบคุมอาหารอย่างเดียวจะลดโคเลสเตอรอลได้เพียง 9.9% ซึ่งให้ผลเหมือนกับการทดลองใช้แพลนท์ สตานอล ร่วมกับอาหารแบบฟินแลนด์นาน 12 เดือน ซึ่งทำการศึกษาในเมืองคารีเลียเหนือ (North Karelia) ประเทศฟินแลนด์

งานวิจัยของนักวิจัยที่ชื่อว่า เฮเลน่า กิลลิง (Helena Gylling) Professor of Clinical Nutrition,
University of Kuopio and Kuopio University Hospital และคณะ พบว่า แพลนท์ สตานอล สามารถลดการดูดซึมของโคเลสเตอรอลจาก 2 แหล่ง คือ โคเลสเตอรอลที่ได้จากอาหารและโคเลสเตอรอลที่เป็นส่วนประกอบของน้ำดี ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าทำไมแพลนท์ สตานอล จึงมีประสิทธิภาพในการลดโคเลสเตอรอลของเราแม้ว่าเราจะรับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลต่ำหรือไม่มีเลยก็ตาม
สำหรับคำถามที่ว่า หากผู้ที่รับประทานยาลดโคเลสเตอรอลอยู่แล้ว การทานแพลนท์ สตานอลร่วมด้วยจะทำได้หรือไม่ และจะช่วยเสริมประสิทธิภาพหรือไม่ คำถามนี้ได้มีการวิจัยแล้ว ปรากฏว่า การใช้ยาสแตตินและแพลนท์ สตานอล ร่วมกันจะช่วยเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน เพราะทั้ง 2 ตัวนี้จะมีปฏิกิริยาในการลดโคเลสเตอรอลต่างกัน โดยยาสแตติน (Statin) (HMG-CoA reductase inhibitor) ซึ่งเป็นยาลดโคเลสเตอรอลที่นิยมใช้มากที่สุดขณะนี้ จะลดโคเลสเตอรอลโดยไปยับยั้งการสังเคราะห์โคเลสเตอรอลในตับ จากทดลองของนักวิจัยที่ชื่อ แบลร์ (Blair SN) และคณะ โดยการให้ผู้ป่วยที่มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูงรับประทานมาร์การีนผสมแพลนท์ สตานอล ร่วมกับการใช้ยาลดโคเลสเตอรอล พบว่าสามารถลดโคเลสเตอรอลได้ถึง 17%
ข้อมูลจากผลการทดลองพบว่า ปริมาณแพลนท์ สตานอล ที่เหมาะสมในการลดโคเลสเตอรอล คือ 2 กรัมต่อวัน ซึ่งหากจะรับประทานพืชจากธรรมชาติให้ได้แพลนท์ สตานอล ที่เพียงพอนั้นจะต้องรับประทานในปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกาย เช่น จะต้องรับประทานส้ม 500 กิโลกรัม องุ่น 133 กิโลกรัม อัลมอนด์ 100 กิโลกรัม น้ำมันถั่วเหลือง 33 กิโลกรัม ข้าวสาลี 5.1 กิโลกรัม จึงจะได้รับแพลนท์ สตานอล 2 กรัม ดังนั้นการปรับประทานแพลนท์ สตานอล ที่สกัดออกมาจึงเป็นเป็นวิธีที่ดีกว่า

ผลการศึกษาด้านความปลอดภัยในการใช้ แพลนท์ สตานอล พบว่า มีความปลอดภัย เพราะเป็นสารจากธรรมชาติ ไม่มีผลข้างเคียง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพ นอกจากนี้ ยังดูดซึมต่ำอีกด้วย โดยได้รับการรับรองจากหลายประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา ก่อนที่จะผลิตออกมาเป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มออกวางจำหน่ายถึง 29 ประเทศทั่วโลก อาทิ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยี่ยม สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน อิตาลี สเปน เกาหลี จีน ซึ่งแต่ละประเทศมีการผลิตหลากหลายรูปแบบ อาทิ นม โยเกิร์ต พาสต้า ขนมปัง คุ้กกี้ มาร์การีน สเปรด

- Law M.Plant sterol and stanol margarines and health. BMJ 2000; 320:861-4
- Plant Stanol Ester : Clinical Summary 2005
- www.benecol.net

วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

วิตามิน E และ C ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด




วันนี้มีเรื่องมาเล่าให้ฟังครับ แต่เดิมมีความเชื่อกันว่า การรับประทาน vitamin E และ C อาจช่วยในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทั้งนี้มาจากพื้นฐานที่ว่า ทั้ง vitamin E และ C มีฤทธิ์ในการเป็น anti-oxidant ต้านอนุมูลอิสระ น่าจะช่วยป้องกันโรคได้ จึงมีการศึกษาวิจัยกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยการสนับสนุนจากองค์กรอิสระในสหรัฐอเมริกา มีการรายงานผลการวิจัยนี้สดๆร้อนๆในที่ประชุมวิชาการประจำปีของ American Heart Association เมื่อต้นเดือน พฤศจิกายน ที่ผ่านมาครับ และลงพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำน่าเชื่อถืออย่าง JAMA (JAMA2008;300:2123)

การศึกษานี้เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 โดยทำในอาสาสมัครแพทย์เพศชาย (อเมริกัน) กว่า 14,641 คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นสองกลุ่มกลุ่มหนึ่งได้รับยาหลอก และ อีกกลุ่มได้รับ vitamin E 400 ยูนิตวันเว้นวัน ร่วมกับ vitamin C 500 มก.ทุกวัน ติดตามไปนานกว่า 8 ปี พบว่าอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่แตกต่างกันเลยระหว่างกลุ่มที่ได้รับยาจริงกับยาหลอก นั่นหมายความว่า การรับประทาน vitamin E และ C ไม่ได้ประโยชน์ในแง่การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่สำคัญมากๆคือ vitamin E เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเลือดออกในสมองขึ้น 1.74 เท่า (หรือ 74%) ซึ่งก็ไม่น้อยเลยครับ

ผมว่าอะไรที่พิสูจน์แล้วว่าไม่มีประโยชน์ แถมยังมีโทษก็ควรจะเลิกใช้นะครับ

วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ใบแปะก๊วย Ginkgo ป้องกันสมองเสื่อม ได้จริงหรือ?





อย่างที่หลายๆท่านทราบดีว่า มีการโฆษณากันอย่างแพร่หลายถึงสรรพคุณของ ใบแปะก๊วย ว่าช่วยเรื่องความจำช่วยป้องกันสมองเสื่อม รวมทั้งประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย มีการจำหน่ายกันอย่างมากในรูปอาหารเสริม แคปซูล สามารถวางขายได้ทั่วไป รวมทั้งการขายตรง เนื่องจากไม่จัดเป็นยา อย.ประเทศเราขึ้นทะเบียนเป็นอาหารเสริมเช่นเดียวกันกับ อย. สหรัฐอเมริกา (US FDA)
เมื่อมีคำถาม ทางที่ดีที่สุด คือ การศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ เพื่อตอบคำถามนั้นๆ นี่เป็นวิธีการคิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการทดลอง พิสูจน์ให้เห็นจริง แต่การศึกษาวิจัยที่ดีนั้น จะต้องเป็นการศึกษาในคน และ เป็นการศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มคนที่เหมือนๆกัน แบ่งครึ่งหนึ่งได้รับสารนั้น อีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอก (สารแป้ง) แล้วมาดูว่า ผลดีของยาเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แตกต่างจากยาหลอกหรือไม่ การศึกษาแบบนี้เท่านั้นจึงจะน่าเชื่อถือและยอมรับสำหรับวงการแพทย์ปัจจุบัน

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 นี้เองครับ มีการรายงานในวารสารการแพทย์ชั้นนำ (JAMA 2008:300;2253) เป็นการรายงานผลการศึกษาผลของใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba) โดยศึกษาในกลุ่มประชากรอเมริกัน โดยศูนย์การแพทย์ทั้งหมด 5 แห่งร่วมมือกันครับ ระหว่างปี ค.ศ.2004-2008 มีอาสาสมัครเข้าโครงการนี้ 3069 คน อายุ 75 ปีขึ้นไป ไม่มีอาการทางสมองมาก่อน แม้ว่าจะมีโรคประจำตัวอื่นๆอยู่บ้าง แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม เท่าๆกัน โดยลักษณะโรคต่างๆคล้ายกัน กลุ่มหนึ่งได้รับ Ginkgo สกัดขนาด 120 มก.วันละสองครั้ง อีกกลุ่มหนึ่งได้รับยาหลอก ติดตามไปนานกว่า 6 ปี แล้วนำมาทดสอบเรื่องความจำ และโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer Disease) ผลปรากฎว่า.... ใบแปะก๊วยสกัด ไม่ได้ช่วยป้องกันสมองเสื่อม หรือ โรคอัลไซเมอร์ เลย มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มว่ามีจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่พบผลเสียร้ายแรงจากใบแปะก๊วยสกัด

ก็นำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ ผมอยากจะเน้นว่า เวลาฟังข่าว ไม่ว่าจะสื่อไหนๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งดี เจ วิทยุ) ต้องดูให้ดีว่าเป็นการศึกษาแบบไหน มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน อย่าเชื่อใครง่ายๆครับ.....

วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

แพทย์ทางเลือก ดีจริงหรือ ?





ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงก่อนครับว่า บทความนี้มิได้ดูถูกแพทย์ทางเลือก แต่อยากให้มุมมองจากแพทย์แผนปัจจุบันว่าแพทย์ทางเลือกนั้นมีปัญหาอะไรบ้าง ทำไมแพทย์ปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่ยอมรับแพทย์ทางเลือก

คำว่าแพทย์ทางเลือก หรือ Alternative medicine น่าจะหมายความถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยไม่ใช่แพทย์แผนปัจจุบัน จึงรวมถึง การรักษาด้วยอาหารชีวจิต สมุนไพร ล้างพิษ (detox) ไปจนถึงการฝังเข็ม

ทัวร์ ชีวจิต ล้างพิษ


มีการจัดทัวร์เพื่อการนี้เป็นเฉพะอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เสียค่าใช้จ่ายไม่น้อย หลักการสำคัญคือ การงดอาหารเนื้อสัตว์ แป้ง รับประทานแต่ผักผลไม้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อตรวจเลือดหรือชั่งน้ำหนักหลังจากทัวร์ ย่อมมีค่าต่างๆเปลี่ยนไปในทางดีขึ้น ทำให้สามารถนำไปโฆษณาต่อได้ การที่ผลเลือดเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนั้นไม่น่าแปลกใจเลย เพราะรับประทานแต่อาหารที่มีไขมันต่ำ แป้งก็เป็นข้าวกล้องซึ่งดีต่อสุขภาพ อาหารที่รับประทานก็ลดลง น้ำหนักตัวจึงลดลง ถามว่าอาหารแบบนี้ดีจริงหรือ คำตอบ คือ ดีจริงๆ อาหารไขมันต่ำเป็นประโยชน์ต่อหลอดเลือด แต่ปัญหาคือ จะสามารถนำไปปฎิบัติเช่นนี้ได้ทุกวันไหม คำตอบคือส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ (ถ้าทำได้เองคงไม่ต้องมาซื้อทัวร์ล้างพิษ) คนส่วนมากเข้าใจว่า มารับประทานเป็นครั้งคราวแบบนี้ได้ประโยชน์ เป็นการล้างพิษ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว “พิษ”คือ อะไร ไม่มีใครอธิบายได้ แล้วการกระทำเช่นนี้ มีการขับ “พิษ” ออกจากร่างกายจริงหรือ ก็ไม่มีตัววัดที่พิสูจน์ได้ชัดเจน เช่นเดียวกันกับการสวนลำไส้ด้วยกาแฟ ที่เรียกว่า การทำ ดีท๊อก มาจากคำว่า detoxification ซึ่งก็ความหมายเดียวกันกับ ล้างพิษ นั่นเอง น้ำกาแฟที่ใส่เข้าไปในลำไส้ใหญ่ ไม่สามารถดึงเอาสารพิษออกจากร่างกายได้ และเช่นเดียวกันว่า ไม่เคยมีการตรวจวัด “สารพิษ” ที่ออกมากับน้ำกาแฟดังกล่าวเลย จึงเป็นเพียง ความเชื่อเท่านั้น อันตรายจากการทำ detox คือ การใช้น้ำที่ร้อนเกินไป มีผู้ป่วยหลายรายแล้วที่ต้องมานอนรพ.เนื่องจาก ลำไส้ทะลุ ลำไส้อักเสบ หรือ ติดเชื้อในกระแสโลหิตภายหลังการทำ detox ทั้งนี้เนื่องจากเยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่บอบบาง การทำ detox ก็เสมือนการลวกลำไส้นั้นเอง ย่อมเกิดการบวมอักเสบ เป็นแผล บริเวณนั้นมีเชื้อโรคมากอยู่แล้วจึงมีโอกาสซึมเข้ากระแสเลือด ผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ก็ยังมีคนเชื่อ คนทำกันสม่ำเสมอด้วยความเชื่อว่ามีประโยชน์ ทั้งๆที่ไม่เคยมีการพิสูจน์ว่าได้ประโยชน์

สมุนไพร ภูมิปัญญาชาวบ้าน


ผมคนหนึ่งที่ไม่ชอบคำว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านหรือ ภูมิปัญญาไทย เท่าไหร่ เพราะทุกครั้งที่ให้ความเห็นเรื่องสมุนไพรในทางลบ ก็จะเสมือนไปดูถูกชาวบ้านหรือคนไทย ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น ความจริงรากเหง้าของยาแผนปัจจุบัน ก็มาจากสมุนไพร หรือ จากพืช สัตว์ แต่เมื่อทราบสูตรทางเคมีแล้วจึงมีการสังเคราะห์ขึ้นใหม่ เกิดเป็นยาขึ้น ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่าสมุนไพรไม่ดี แต่ การรักษาด้วยสมุนไพร มีข้อจำกัดมากมาย มีคำถามเกิดขึ้น เช่น สมุนไพรชนิดเดียวกัน แต่ปลูกคนละแห่งจะมีสารออกฤทธิ์เท่ากันหรือไม่ จะต้องใช้ขนาดเท่าไหร่จึงจะพอเหมาะ นานแค่ไหน การผสมสมุนไพรหลายชนิดในยาต้มยาหม้อนั้น เกิดการตีกันระหว่างสารออกฤทธิ์หรือไม่ มีผลเสียอะไรบ้าง แล้วผลดี ได้รับการพิสูจน์โดยการทดลองหรือไม่ ว่าสมุนไพรได้ประโยชน์จริงๆ ทำไมจึงใช้รักษาโรคได้ครอบจักรวาล ทั้งๆที่แต่โรคมีความผิดปกติต่างกัน คำถามหลายคำถามไม่มีคำตอบ แต่ที่แน่ๆเลย คือ สมุนไพรมีโทษ อย่าคิดว่าของจากธรรมชาติไม่มีโทษนะครับ สมุนไพรไทยอย่างใบขี้เหล็ก ทางองค์การเภสัชได้นำมาบรรจุเป็นเม็ดจำหน่าย ช่วยให้นอนหลับ แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกไป เพราะมีรายงานตับอักเสบจากสมุนไพรนี้หลายราย(แม้แต่องค์กรรัฐยังเชื่อถือไม่ได้) หรือ สมุนไพรจีนมีรายงานว่าทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น เป็นต้น แต่สมุนไพรก็ยังมีประโยชน์เช่นสมุนไพรจีน นำมาใช้รักษามาเลเรียได้ผลดี ดังนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่ สมุนไพรนั้นๆได้ผ่านการพิสูจน์ ทดลองอย่างเป็นระบบ แล้วหรือไม่ ได้ประโยชน์จริงไหมและมีโทษอะไรบ้าง หากสมุนไพรได้ผ่านการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าในปัจจุบัน

การฝังเข็ม


แตกต่างจากเรื่องสมุนไพร เพราะการฝังเข็มได้มีการศึกษา ทดลอง พิสูจน์ให้เห็นจริงๆว่าได้ประโยชน์ ในบางเรื่อง ที่เด่นชัดคือ ฝังเข็มเพื่อลดอาการเจ็บปวด สามารถผ่าตัด หรือ ถอนฟันได้โดยไม่ต้องใช้ยาชาหรือยาสลบ สำหรับการฝังเข็มเพื่อรักษาโรคอื่นๆ (ซึ่งแพทย์ฝังเข็มอ้างว่ารักษาได้ทุกโรค แม้แต่โรคหัวใจ !) กลับไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าได้ผลจริงๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทำการศึกษาได้ยาก อีกประการหนึ่งคือ ขึ้นกับฝีมือคนทำด้วย (แตกต่างจากการศึกษาเรื่องยา) ดังนั้น ในความเห็นผม ฝังเข็มได้ประโยชน์เฉพาะเรื่องการลดความเจ็บปวดเท่านั้น

การครูดตะกรัน หรือ Chelation


ก็ไม่แน่ใจว่าควรจะนับเป็นแพทย์ทางเลือกไหม เพราะจริงๆแล้วเป็นการให้ “ยา”ทางหลอดเลือดดำ ด้วยความเชื่อว่า ยาที่ให้นั้น จะไปลอกครูด เอาของเสียออกจากร่างกาย มีการแนะนำอย่างเป็นล่ำเป็นสันในบางคลินิก โดยอ้างว่า ทำให้หลอดเลือดหัวใจสะอาดขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ไม่มีการศึกษาพิสูจน์ว่าเป็นจิงแม้แต่น้อย คนไข้ผมรายหนึ่งทำ chelation มานาน สุดท้ายก็เกิด heart attack อยู่ดี

แพทย์แผนปัจจุบันมีข้อดีตรงที่ การรักษาด้วยยาต่างๆหรือ คำแนะนำต่างๆ ส่วนมากแล้วจะผ่านการศึกษาวิจัยอย่างมีระบบ พิสูจน์ให้เห็นว่าการได้รับยาได้ประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าการที่ไม่ได้รับยานั้น ตัวอย่างเช่น การลดระดับไขมันในเลือดด้วยยากลุ่ม statins ได้รับการพิสูจน์จากหลายการศึกษา รวมคนที่ศึกษากว่า 100,000 คน ก็พบประโยชน์ชัดเจนในการป้องกัน heart attack มีคนใช้ยานี้หลายล้านคนเป็นเวลาหลายปี โดยมีผลเสียจากยาน้อยมาก น้อยกว่า1% แต่กระนั้นก็ตาม เวลาบอกให้ผู้ป่วยรับประทานยา กลับไม่ยอมรับประทานยา กลับไปเชื่อเรื่องสมุนไพร เรื่องล้างพิษ เรื่องครูดตะกรัน ทั้งๆสิ่งเหล่านั้นไม่เคยได้รับการพิสูจน์ด้วยซ้ำว่าดีจริง

วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551

คำถามเกี่ยวกับยาลดไขมันในเลือด


มีคำถามมากมายเกี่ยวข้องกับยาลดไขมันในเลือด ส่วนใหญ่ถามถึงความจำเป็นในการรับประทานยา การหยุดยา และผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น อาจตอบได้กว้างๆ ดังนี้

ยาลดไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในปัจจุบัน คือ ยากลุ่มสแตติน ซึ่งมีด้วยกันหลายยี่ห้อ ยาที่ออกมารุ่นแรกๆมักมีประสิทธิภาพต่ำกว่ายาที่ออกมาจำหน่ายภายหลัง แต่รุ่นแรกๆมักมีราคาถูกกว่าเนื่องจากหมดสิทธิบัตรแล้ว ยากลุ่มนี้ได้รับการศึกษา วิจัย อย่างมาก ทั้งในผู้ที่ยังไม่เป็นโรค และในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ผลการศึกษาล้วนออกมาในทางเดียวกัน คือ การลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดด้วยยากลุ่มนี้ ได้ประโยชน์ในการป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย ชะลอการตีบตันหลอดเลือดหัวใจ ป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตจากหลอดเลือดสมองตีบ ทั้งในผู้ที่ยังไม่เคยมีโรคหรือเกิดโรคแล้วก็ตาม นอกจากนั้นยังได้ประโยชน์แม้ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดมิได้สูงนักก็ตาม จึงอาจกล่าวได้ว่า ยากลุ่มนี้ ไม่เพียงเป็นยาลดไขมันเท่านั้น แต่ยังช่วยให้หลอดเลือดแดงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จึงจัดเป็นยาที่จำเป็นในผู้ป่วยโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งต้องรับประทานไปตลอดชีวิตแม้ว่าระดับไขมันจะลดต่ำลงมามากแล้วก็ตาม ไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากอาจเกิดผลเสียได้

ผลแทรกซ้อนจากยากลุ่มนี้มีได้เช่นเดียวกันกับยาทุกชนิด ที่เด่นคือ ค่าเอนไซมย์ตับ (SGOT/SGPT) และ เอนไซมย์กล้ามเนื้อ (CPK) สูงขึ้น ซึ่งอาจบ่งถึงการอักเสบหรือไม่ก็ได้ น้อยรายมากที่จะเกิดอาการของ “ตับอักเสบ” ชัดเจน หรือ กล้ามเนื้ออักเสบรุนแรง เรียกได้ว่าโอกาสเกิดกรณีเช่นนั้นพบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 หากค่า SGOT/SGPT สูงขึ้นกว่าเดิมไม่เกิน 3 เท่า หรือ CPK สูงขึ้นไม่เกิน 10 เท่าก็ไม่จำเป็นต้องหยุดยาแต่ประการใด อย่างไรก็ตาม ค่าต่างๆเหล่านี้อาจสูงขึ้นได้บ่อยๆในบางรายแม้ไม่รับประทานยา ดังนั้นค่าที่ผิดปกติไม่ได้หมายความว่าจะเกิดจากยาเสมอไป ผู้ที่รับประทานยากลุ่มนี้ควรตรวจค่าเอนไซมย์ดังกล่าวเป็นระยะๆ และ พบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง ขาไม่มีแรงลุก เดิน เป็นต้น ผลแทรกซ้อนจากยาอาจพบสูงขึ้นได้หากไม่ระมัดระวัง เช่น การรับประทานยากลุ่มนี้บางตัวร่วมกับยาปฏิชีวนะบางชนิดอาจเสริมกัน ทำให้ระดับยาในเลือดสูงขึ้นมากจนเป็นอันตราย จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานยาใดๆ นอกจากนั้นพันธุกรรมยังมีบทบาทด้วย บางรายมี “ยีน” ที่ส่งเสริมการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรงซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรได้รับยากลุ่มนี้อีกต่อไป

อาการปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย หรือ ตะคริว เป็นอาการที่พบบ่อย โดยผลเลือดมักจะปกติ อาการเช่นนี้อาจเกี่ยวข้องกับยาหรือไม่ก็ได้ หากมีอาการดังกล่าว แพทย์อาจทดลองให้หยุดยาชั่วคราวแล้วดูอาการ หรือ ลดขนาดยา หรือ แนะนำให้รับประทานยาอื่นๆแก้ไขตามอาการ การให้ Co Q10 รับประทานในบางรายอาจช่วยลดอาการตะคริวได้

วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

การรักษาโรคหัวใจด้วย เซลล์ ชัวร์ หรือ มั่วนิ่ม



การรักษาโรคหัวใจด้วยเซลล์

ชื่อที่คุ้นเคยกว่า คือ การรักษาด้วย stem cell เรื่องนี้ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่อยู่ แม้ว่าเราจะรู้จักและใช้เซลล์ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือด หรือ ธาลัสซีเมียมานานแล้ว แต่หากในโรคหัวใจแล้ว คนละเรื่องเดียวกัน เนื่องจากเดิมเชื่อว่า เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ไม่อาจซ่อมแซมสร้างขึ้นใหม่ได้อีก ความเชื่อเปลี่ยนไปเมื่อตรวจพบว่า มี Yโครโมโซมซึ่งบ่งบอกเพศชาย ในกล้ามเนื้อหัวใจที่ได้มาจากผู้หญิงในผู้ป่วยชายที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ นั่นแสดงว่า ร่างกายผู้ป่วยสามารถส่งเซลล์มายังหัวใจดวงใหม่ได้ ทำให้มีการวิจัยหาทางนำเซลล์มาใช้ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย โดยหวังว่า จะเกิดการซ่อมแซม ทำให้หัวใจกลับมาดีได้ดังเดิม หรือ ตายน้อยลง แต่จนถึงวันนี้ ยังถือว่าเพิ่งเริ่มต้น ยังต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีจึงจะบอกได้ว่าจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่....

เซลล์ที่นำมาศึกษาทดลองมีมากมาย ตั้งแต่เซลล์กล้ามเนื้อลาย เซลล์ไขกระดูก เซลล์ต้นกำเนิดที่มีอยู่ในกระแสเลือด กระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์ก็มีหลากหลายเทคนิค ยังไม่มีการเพาะเลี้ยงที่ “เป็นมาตรฐาน” ขั้นตอนการนำเซลล์กลับสู่หัวใจก็มีหลายวิธีเช่นกัน ตั้งแต่ง่ายๆแค่การให้ทางหลอดเลือดดำ ไปจนการฉีดเข้าหลอดเลือดหัวใจ หรือ ผ่าตัดเล็กๆเข้าไปฉีดกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรงเลยก็มี สิ่งที่ต้องติดตามก็คือ ผู้ป่วยอาการดีขึ้นจริงหรือไม่ บางครั้งดูจากอาการอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูด้วยว่าอัตราตายลดลงหรือไม่ ชีวิตยืนยาวขึ้นไหม หัวใจดีขึ้นจริงหรือไม่ด้วยการตรวจต่างๆ และการรักษาวิธีนี้ก่อให้เกิดมะเร็ง หรือ ระบบไฟฟ้าหัวใจผิดปกติหรือไม่อีกด้วย

ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม European Congress of Cardiology ที่นครมิวนิค เยอรมัน เมื่อต้นเดือนกันยายน 2551 เป็นการประชุมที่มีคนเข้าร่วมหลายหมื่นคน เกี่ยวกับความรู้ทันสมัยที่สุดทางโรคหัวใจ ได้ฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับ การรักษาด้วยเซลล์ (Stem Cell Therapy) สำหรับโรคหัวใจแล้ว อยากเรียนว่าการศึกษาที่ผ่านมา ได้ผลระยะสั้นบ้างไม่ได้ผลบ้าง ผลไม่แน่นอนและไม่ไปในทิศทางเดียวกันเลย ยังไม่ได้จัดเป็นการรักษามาตรฐานครับ บางคนคงเห็นว่ามีการโฆษณาเรื่องนี้มากในรพ.หลายแห่ง ก็แล้วแต่ว่าท่านอยากจะเป็นหนูให้เขาทดลองหรือไม่ !!

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เมื่อ หัวใจต้อง บายพาส


พวกเราคงคุ้นเคยกับคำว่า บายพาส ที่ใช้กับถนนสายเลี่ยงเมืองแล้วใช่ไหมครับ ซึ่งก็คือ การตัดถนนเส้นใหม่ อ้อมเมือง ไม่เข้าเมืองนั่นเอง คำว่า บายพาสเป็นการใช้ตามภาษาอังกฤษที่เขียน bypass เนื่องจากเป็นคำที่มักคุ้นกันอยู่ คำว่า การผ่าตัดหัวใจบายพาส ในที่นี้หมายถึง การผ่าตัดทำทางเดินเลือดใหม่ครับ โดยอาศัยหลอดเลือดจากตัวเราเองที่บริเวณอื่นๆมาทำ ทางเบี่ยงเพื่อให้เลือดยังคงสามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ตามปกติ ทางเส้นใหม่หรือหลอดเลือดใหม่นั้น อาจจะใช้หลอดเลือดดำที่ขา หรือ หลอดเลือดแดงก็ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าตัดออกมาใช้แล้วจะไม่เกิดปัญหาครับ

เมื่อเอ่ยคำว่าผ่าตัดหัวใจ หลายคนก็ขยาดแล้ว ฟังดูน่ากลัว ซึ่งจริงๆก็น่ากลัวพอสมควร ดังนั้น แพทย์จะแนะนำการรักษาด้วยการผ่าตัดเฉพาะรายที่ไม่สามารถทำการขยายหลอดเลือดหัวใจได้เท่านั้น หรือ เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้วการผ่าตัดได้ประโยชน์กับผู้ป่วยมากกว่าจึงแนะนำครับ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบหลายจุด หรือตีบเป็นแนวยาว กรณีเช่นนี้แม้จะขยายด้วยบอลลูน(ลูกโป่ง)ได้ แต่ก็มักมีการตีบซ้ำบ่อยและค่าใช้จ่ายสูงมากเพราะต้องทำหลายจุด หรือ บางครั้งหลอดเลือดหัวใจตีบตรงส่วนล่างๆ ไม่สามารถตามไปขยายได้ หรือ ตีบที่ขั้วเลย เป็นต้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันการขยายหลอดเลือดมีการพัฒนาไปอย่างมากทั้งเทคนิก และ เครื่องมือ ทำให้สามารถขยายหลอดเลือดได้เกือบทุกราย เพียงแต่ ผลในระยะยาวอาจจะดีแตกต่างกันไปบ้าง บางครั้งแย่กว่าการผ่าตัด

เมื่อคุณหมอแนะนำผ่าตัด สิ่งแรกที่ผู้ป่วยรู้สึกคือ ตกใจ กลัวเจ็บ ไม่อยากทำ แต่ขอให้ตั้งสติสักครู่ ไม่มีใครไม่กลัวหรอกครับ แต่ก็เห็นผ่านรอดชีวิตกันมามากมาย บางคนเจ็บมากบางคนเจ็บน้อย บางคนบอกผมว่า ไม่เจ็บเลย! ผมเองก็ไม่อยากเชื่อว่าไม่เจ็บ แต่ภายหลังผ่าตัดคุณหมอจะให้ยาแก้ปวดจำนวนมากครับ ทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่แล้ว....

ก่อนผ่าตัด คุณหมอหัวใจ หรือ คุณหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจจะแนะนำ สอนเรื่องการหายใจลึกๆ เพื่อว่าหลังผ่าตัดจะได้หายใจได้ดี ถูกต้อง โอกาสเกิดปอดแฟบ ปอดอักเสบหลังผ่าตัดจะได้น้อยลงด้วย ผู้ป่วยควรร่วมมือนะครับ เพื่อผลประโยชน์ของท่านเอง เมื่อท่านรู้สึกตัวขึ้นอีกครั้ง แสดงว่าการผ่าตัดผ่านไปด้วยดี ท่านจะอยู่ใน ICU อาจมีท่อช่วยหายใจอยู่ในคอ มีสายคาท่อปัสสาวะ ซึ่งน่ารำคาญ แต่อย่าดึงออกนะครับเพราะจะยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น คุณหมอจะเอาท่อช่วยหายใจออกทันทีที่เห็นว่าท่านหายใจเองได้ดี นอกจากนั้นยังมีท่อ สายน้ำเกลือมากมาย พาลใจเสียเอาทั้งผู้ป่วยและญาติ แต่นั่นเป็นเรื่องปกติครับ ไม่ต้องกังวล

ระยะพักฟื้นในรพ.อาจเป็นช่วงที่เจ็บมากที่สุดเพราะยาแก้ปวดลดลง และเริ่มมีกิจกรรมมากขึ้น แต่เชื่อเถอะครับว่าเจ็บทนได้ ไม่ถึงขนาด “ทนพิษบาดแผลไม่ไหว” เหมือนที่เขาว่ากัน หากไม่มีปัญหาแทรกซ้อนอะไร ก็สามารถกลับบ้านได้ภายใน 7-10 วันหลังผ่าตัด กลับไปนั่งๆนอนๆเดินๆที่บ้านสักไม่กี่วันก็กลับไปทำงานได้แล้วครับ ยกเว้นงานที่ต้องเป็นกรรมกรแบกหาม แบบนั้นคงจะอีกนาน เพราะกระดูกหน้าอกยังเชื่อมกันไม่สนิทเวลาบิด หรือ ขยับตัว ยกแขน อาจจะเจ็บบ้าง เป็นธรรมดา

สิ่งหนึ่งที่ต้องจำคือ การผ่าตัดบายพาสแม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็ต่ำกว่า5% ที่จะเสียชีวิต แต่หากท่านไม่ทำอะไรเลย ท่านอาจมีความเสี่ยงสูงกว่านั้น หลังผ่าตัดแล้ว แม้ท่านจะสุขภาพแข็งแรง ไม่มีอาการอีก แต่ท่านยังคงต้องรับประทานยาไปตลอดเช่นกัน...

วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ยาอมใต้ลิ้น ไม่ใช่ยาวิเศษ



หลายๆคนคงเคยได้ยินมาว่า ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ต้องมียาอมใต้ลิ้นพกติดตัวไว้เป็นประจำ และ หากมีอาการเกิดขึ้น อมยาไม่ทัน ก็ตายลูกเดียว หรือ ในทางกลับกัน การอมยาใต้ลิ้นทันท่วงที จะช่วยไม่ให้เสียชีวิต !! สื่อทางโทรทัศน์ วิทยุ (ดีเจ) ละคร รวมทั้งแพทย์ที่ไม่รู้อีกมาก ล้วนสร้างภาพให้ ยาอมใต้ลิ้น เป็นเสมือนยาวิเศษ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เลย ยาอมใต้ลิ้น มีประโยชน์ก็จริงอยู่ แต่ไม่ใช่ยาวิเศษ ใช้ผิดอาจตายได้ด้วยซ้ำ

ยาอมใต้ลิ้น ที่ผู้ป่วยโรคหัวใจใช้นั้น คือ ยากลุ่ม ไนเตรท (nitrate) อาจมีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น ไนโตร (nitro) หรือ ไอ ซอ ดิล (isordil) แล้วแต่บริษัทผู้ผลิต เราเรียกรวมๆกันว่ายาไนเตรท ที่ใช้อมใต้ลิ้นแทนการรับประทาน เนื่องจากบริเวณกระพุ้งแก้ม ในช่องปาก มีหลอดเลือดเล็กๆมากมาย เมื่อยาละลายจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว ยาจึงออกฤทธิ์ภายในเวลาไม่กี่นาที และ แน่นอนหมดฤทธิ์เร็วด้วย ยานี้มีส่วนช่วยขยายหลอดเลือดหัวใจได้ชั่วคราว แต่กลไกสำคัญคือ การลดเลือดไหลเวียนกลับสู่ร่างกาย เนื่องจากยาไปขยายหลอดเลือดทั้งดำและแดง ทำให้หัวใจทำงานลดลง จึงลดอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบได้ชั่วคราว ขอเน้นว่า เพียงแต่ ลดอาการช่วยคราวแต่การตีบตันที่รุนแรงนั้นยังคงมีอยู่ ไม่ได้หายไปด้วยยาอมใต้ลิ้นแต่อย่างใด! ต้องไปพบแพทย์อยู่ดี

ยาจึงเหมาะในการช่วยบรรเทาอาการ “ชั่วคราว” ก่อนไปพบแพทย์ และสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบเท่านั้น หากอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบการอมยาใต้ลิ้น อาจทำให้เกิดผลแทรกซ้อนร้ายแรงได้ ต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่ใช่แจกยาไปทั่วทั้งๆที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ ....ด้วยความหวังดี จะกลายเป็นหวังร้าย

ยาอมใต้ลิ้นไม่ใช่ยาวิเศษ หากผู้ป่วยไม่ได้อมยาใต้ลิ้น ก็ไม่เสียชีวิต หากจะเสียชีวิตก็เสียชีวิตเพราะโรค ไม่ใช่เพราะไม่ได้ยาอมใต้ลิ้นแต่ประการใด หรือ อมยาใต้ลิ้นแล้ว ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่เสียชีวิตอีกเช่นกัน ยามีผลขยายหลอดเลือดรุนแรงทำให้ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด เป็นลม ปวดศีรษะ ในบางรายมีการตอบสนองผิดปกติ ที่เรียก autonomic dysfunction(vasovagal) ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นช้า เป็นลมหมดสติ.....

ประสบการณ์ผมมีคนไข้รายหนึ่งเป็นหมอ เพื่อนๆเป็นหมอด้วย ไปกินเลี้ยงกันสนุกสนาน หมอคนนี้บ่นแน่นๆหน้าอก เพื่อนๆหวังดี หยิบยาอมใต้ลิ้นมาให้กิน หนึ่งเม็ด สักพัก เอ..เห็นยังไม่หาย อมอีกเม็ดแล้วกัน... ไม่ทันไรเลยครับ หน้ามืด หน้าซีดเหงื่อออก ล้มลงจากเก้าอี้ เรียกไม่รู้ตัว เพื่อนๆที่เป็นคุณหมอจับชีพจรไม่ได้ (ไม่รู้จับนานแค่ไหน) เริ่มปั๊มหัวใจ...พาส่งรพ. ผมมาดู ซักประวัติได้ว่าผู้ป่วยรายนี้ ความดันโลหิตค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว แถมมีอาการหน้ามืดบ่อยๆ รับประทานยาหลายชนิดที่ลดความดันโลหิตอยู่อีกต่างหาก เมื่อโดนยาอมใต้ลิ้น เลยยิ่งแย่ เห็นไหมครับมากินเลี้ยงกันอยู่ดีๆ เกือบจะต้องไปงานศพ ไปเสียแล้ว แม้แต่หมอเองก็อย่าไว้ใจ....ไม่ใช่จะเก่งทุกเรื่อง

ยาอมใต้ลิ้น ไม่ใช่ยาวิเศษ ใช้บรรเทาอาการแน่นหน้าอกเฉพาะในคนที่เป็นโรคหัวใจเท่านั้น จำไว้ว่า ให้นั่งหรือ นอนอมยา อย่ายืน ความดันโลหิตจะต่ำลง ปวดศีรษะ เป็นลมได้ และ ห้ามใช้กับ ไวอกร้า รวมทั้งยาประเภทเดียวกันโดยเด็ดขาด กรุณาอย่าให้ยาแก่ผู้อื่นด้วยความหวังดี

วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ยารักษาใจ


โรคหัวใจ มีความหมายกว้างมาก และมีความสัมพันธ์กับโรคอื่นๆอย่างใกล้ชิด ทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูงฯลฯ ผู้ป่วยโรคหัวใจ จึงมักจะได้รับยาหลายชนิดร่วมกัน นอกจากนั้น ยาแต่ละชนิด มีคุณสมบัติหลายอย่าง สามารถนำไปใช้รักษาในหลายโรค ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ซึ่งมักจะทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิด ยกตัวอย่างเช่น ยาขับปัสสาวะ นอกจากใช้เป็นยาขับน้ำและเกลือในผู้ที่บวมแล้ว ยังนำมาใช้เป็นยาลดความดันโลหิตอีกด้วย ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมักจะไม่เข้าใจ และ ถามว่าทำไมต้องรับประทานยาขับปัสสาวะ ทั้งๆที่ปัสสาวะปกติไม่ต้องขับแต่อย่างใด บทความนี้จะกล่าวถึงการใช้ยาต่างๆในผู้ป่วยโรคหัวใจตามกลุ่มโรค แต่จะไม่ลงในรายละเอียดของยาแต่ละชนิด และ เลือกมาเฉพาะกลุ่มยาที่ใช้บ่อยเท่านั้น

ยารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ

ยาที่ได้รับการพิสูจน์ว่าได้ประโยชน์ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน มีดังนี้

Aspirin ยาแอสไพริน ขนาด 60 – 300 มิลลิกรัม เป็นยาต้านการเกาะกลุ่มกันของเกร็ดเลือด ลดการเกิดลิ่มเลือดเล็กๆ นำมาใช้ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจทั้งในกรณีที่ไม่มีอาการ หรือ กำลังเกิด heart attack อยู่ ได้ผลดีในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ผู้ป่วยควรได้รับยากลุ่มนี้ไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจร่วมกับการใส่ขดลวด (stent) ยกเว้นมีปัญหาจากการใช้ยา ผลแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ เลือดออกง่ายขึ้น แผลในกระเพาะอาหาร และ เลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งพบได้แม้จะใช้ขนาดต่ำก็ตาม

Ticlopidine หรือ Clopidogrel เป็นยาต้านการเกาะกลุ่มกันของเกร็ดเลือดอีกชนิดหนึ่ง ที่ใช้ร่วมกับแอสไพริน หรือ ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานแอสไพรินได้ ผู้ป่วยที่ได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจร่วมกับการใส่ขดลวด (stent) จำเป็นต้องได้รับยากลุ่มนี้ร่วมกับ แอสไพริน ไประยะหนึ่ง การหยุดยานี้โดยไม่จำเป็น อาจก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงได้ถึงชีวิตได้ ต้องปรึกษาแพทย์หัวใจที่ดูแลอยู่ก่อนหยุดยาทุกครั้ง

Statins เป็นยาลดไขมันในเลือด ออกฤทธิ์โดยลดการสร้างไขมันโคเลสเตอรอลที่ตับ นอกจากลดระดับไขมัน แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล ในเลือดแล้ว ยังช่วยให้ไขมันที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจไม่แตกปริง่ายๆ และไม่สะสมเพิ่มขึ้นอีกด้วย จึงเป็นยาที่ได้ประโยชน์อย่างมากในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แม้ว่าระดับไขมันในเลือดจะไม่สูง ยานี้ควรรับประทานไปตลอดชีวิต ผลแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ปวดกล้ามเนื้อ ตับอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งพบน้อยและส่วนมากไม่รุนแรง

Nitrates ไนเตรทเป็นยาที่ใช้กันมานาน ช่วยบรรเทาอาการเจ็บแน่นหน้าอก ที่รู้จักกันดีในรูปแบบ ยาอมใต้ลิ้น หรือในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน ยาไนเตรทช่วยขยายหลอดเลือดหัวใจได้ชั่วคราว ช่วยควบคุมอาการเจ็บแน่นหน้าอก แต่มิได้ช่วยป้องกันการเสียชีวิต จึงไม่ใช่ยาวิเศษ อย่างที่หลายท่านเข้าใจ ดังนั้น หากมีอาการแน่นหน้าอก และมียาอมใต้ลิ้นอยู่ แนะนำให้อมยา หากอาการไม่ดีขึ้นต้องมาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในผู้ที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ เนื่องจากอาจเกิดผลแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เป็นลม หัวใจเต้นช้า ในบางราย สำหรับผลแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ ปวดศีรษะ

Beta-blockers ยาต้านเบต้า นอกจากช่วยลดความดันโลหิตแล้ว ยังช่วยลดการบีบตัว และ อัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจใช้ออกซิเจนลดลง จึงช่วยควบคุมอาการเจ็บแน่นหน้าอกได้ นอกจากนั้นยานี้ยังช่วยลดอัตราตายในผู้ป่วยที่เคยมีกล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อน

ยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ ลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ อาการสำคัญ คือ หอบเหนื่อยง่าย ตับโต ขาบวม ดังนั้น ยาหลักที่ใช้ในการรักษา คือ ยาขับปัสสาวะ และ ยาลดแรงต้านต่อหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานได้สบายขึ้น

ยาขับปัสสาวะ เป็นยาขับน้ำและเกลือออกจากร่างกาย ทำให้สารน้ำที่สะสมอยู่ในปอด ตับ หรือ ร่างกายของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวลดลง ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายขึ้น เหนื่อยและบวมลดลง แต่หากขับปัสสาวะมากเกินไปก็อาจเกิดอันตรายได้ เนื่องจากเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ จึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ยาลดแรงต้านต่อหัวใจ ยากลุ่มนี้ช่วยให้หัวใจทำงานได้สบายขึ้น เนื่องจากแรงต้านต่อการบีบตัวของหัวใจลดลง ได้แก่ยากลุ่ม Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors (ACEI) และ Angiotensin II Receptor Blockers (ARB) นอกจากนั้นยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในระยะยาว และลดการรับไว้รักษาใน ร.พ. เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวอีกด้วย จึงเป็นยาที่จำเป็นมากและควรได้รับไปตลอด อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้มีผลแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ความดันโลหิตต่ำ ไตเสื่อมในบางราย ไอ (เฉพาะ ACEI )

Beta-blockers ยาต้านเบต้าบางขนิด นำมาใช้ในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังได้ผลดี แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด

ยาลดความดันโลหิต

ภาวะความดันโลหิตสูง แม้จะไม่ใช่ โรคหัวใจ โดยตรงแต่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับโรคหัวใจมาก เนื่องจากความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจ และ ความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจอยู่ อีกทั้งยาที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ และ ยาลดความดันโลหิต อาจเป็นยาชนิดเดียวกัน แต่แพทย์ให้ในวัตถุประสงค์แตกต่างกัน

ยาขับปัสสาวะ ยาขับปัสสาวะในขนาดต่ำเป็นยาลดความดันโลหิตที่ได้ผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ผู้ที่รับประทานอาหารเค็ม หรือ บวม นอกจากนั้นยังราคาถูก แต่ผลแทรกซ้อนที่ควรระวัง คือ เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ กรดยูริคและระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

Beta-blockers เป็นยาลดความดันโลหิตที่ใช้กันมานาน ลดความดันโลหิต ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ผลแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ หลอดลมตีบในคนที่เป็นหอบหืดหรือสูบบุหรี่จัด อาการอ่อนเพลีย หย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเล็กน้อย

Calcium channel blockers ยากลุ่มนี้มีหลายชนิด ล้วนสามารถลดความดันโลหิตได้ดี ผลแทรกซ้อนที่พบบ่อยจะแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม เช่น ปวดศีรษะ ใจสั่น เท้าบวม เป็นต้น ไม่มีผลเสียต่อไต หรือ ระดับน้ำตาลในเลือด

Alpha-blockers เป็นยาลดความดันโลหิตอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่มีผลเสียต่อไต หรือระดับน้ำตาลในเลือด และยังนำมาใช้ในการรักษาอาการปัสสาวะขัดเนื่องจากต่อมลูกหมากโตอีกด้วย

Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors (ACEI) เป็นยาลดความดันโลหิตที่ปัจจุบันราคาไม่แพง ประสิทธิภาพดี แต่มีผลแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ อาการไอ มักจะไอแห้งๆคันคอ ไม่มีอาการหวัด ไอเป็นชุด คล้ายภูมิแพ้ อาการนี้พบได้บ่อยในคนเอเชีย ทำให้ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มอื่นแทน

Angiotensin II Receptor Blockers (ARB) เป็นยาลดความดันโลหิตที่ใช้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน ผลแทรกซ้อนจากยามีน้อยมาก ไม่ควรใช้ในกรณีที่ไตเสื่อมอย่างมาก (ยกเว้นได้รับการฟอกไต) ข้อเสียสำคัญคือราคาแพง

จะเห็นได้ว่า ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจมีมากมายหลายชนิด อีกทั้งยาบางชนิดใช้ในหลายโรค และ ผู้ป่วยโรคหัวใจส่วนใหญ่จะมีโรคอื่นๆร่วมด้วย มักจะได้รับยาหลายชนิดร่วมกัน ผู้ป่วยควรจะต้องทราบว่ารับประทานยาอะไรอยู่บ้าง ขนาดยาเป็นอย่างไร โดยอาจจดชื่อยาและวิธีรับประทาน หรือ นำยาที่รับประทานอยู่ให้แพทย์ดูทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับยาซ้ำซ้อน และปฎิกริยาระหว่างยาด้วยกัน ซึ่งบางครั้งรุนแรงมาก

วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ใจใหญ่ ใจโต



“คุณหมอ คะ คุณแม่ดิฉันเป็นหัวใจโตคะ”

คำถามเหล่านี้ได้ยินกันเสมอในหมู่อายุรแพทย์ และ แพทย์โรคหัวใจ เป็นความเข้าใจผิดที่พบได้บ่อยๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่มี “โรคหัวใจโต” มีแต่ “ภาวะหัวใจโต” ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ หัวใจก็เป็นอวัยวะเช่นเดียวกันกับอวัยวะอื่นๆ เมื่อต้องทำงาน หนักมากกว่าปกติ หรือมีปัญหาอื่นๆ ก็อาจทำให้ขนาดหัวใจโตขึ้น ดังนั้น หัวใจที่โตขึ้นจึงไม่ใช่ “โรค” แต่เป็นผลตามมา เนื่องจากโรคอื่นๆ

หัวใจโต โตจากอะไร
ขนาดหัวใจที่โตกว่าปกตินั้น อาจแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ โตจากกล้ามเนื้อที่หนาตัวกว่าปกติ ลองนึกภาพคนเล่นกล้าม นักเพาะกาย กล้ามเนื้อใหญ่ขึ้น เพราะทำงานหนัก กล้ามเนื้อหัวใจก็เช่นเดียวกัน หากต้องทำงานหนัก บีบตัวมากๆ เช่น ในกรณีความดันโลหิตสูง หรือ ลิ้นหัวใจตีบ ก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นได้ อีกประการหนึ่งคือขนาดของหัวใจโตขึ้นเพราะกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี มีเลือด คั่งค้างในห้องหัวใจมากคล้ายลูกโป่งใส่น้ำ ทำให้ขนาดโตขึ้น แบบนี้น่าจะเรียกว่า “ใจใหญ่” มากกว่าหากเอกซเรย์ทรวงอกดู จะเห็นขนาดหัวใจใหญ่คับอกเลยทีเดียว มีหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจโต ที่พบประจำ คือ ความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย เบาหวาน เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วโรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่หนากว่าปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ โรคหัวใจจากแอลกอฮอล์ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งเช่นกัน

แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าหัวใจโต
ภาวะหัวใจโตไม่จำเป็นต้องมีอาการผิดปกติใดๆ หากจะมีอาการก็จะเป็นอาการเนื่องจากโรคที่เป็นต้นเหตุ และ อาการจากหัวใจล้มเหลว เช่น เหนื่อยง่าย หอบ แน่นหน้าอก เป็นต้น การตรวจร่างกายจะบอกได้หากหัวใจมีขนาดโตมาก แต่โดยทั่วไปแล้ว การตรวจร่างกายจะมุ่งหาสาเหตุของหัวใจโต มากกว่าที่จะ บอกขนาดของหัวใจ การตรวจที่จำเป็น คือ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ เอกซเรย์ทรวงอก ซึ่งจะเห็นเงาปอดและหัวใจ หากกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติมาก หรือ เคยมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อน จะแสดงให้เห็นจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจที่มีความไวต่ำ หมายความว่า แม้คลื่นไฟฟ้า หัวใจปกติ ก็มิได้หมายความว่าหัวใจไม่โต หรือ ไม่มีโรคหัวใจขาดเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจบอกว่าโต แต่จริงๆแล้วไม่โตก็ได้ เอกซเรย์ทรวงอกบอกขนาด หัวใจได้ดีพอสมควร แต่ก็ผิดพลาดได้ง่าย เพราะขึ้นกับเทคนิค ระยะห่างระหว่างหัวใจกับฟิล์ม การหายใจ เป็นต้น บ่อยครั้งที่ดูว่าหัวใจโตจากเอกซเรย์ แต่จริงๆแล้วขนาดหัวใจปกติ ไม่โตเลย
ในทางกลับกันเอกซเรย์บอกว่าปกติแต่ความจริงมีกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติมากก็เป็นได้ ต้องเข้าใจว่า การตรวจเหล่านี้ ล้วนมีข้อจำกัดทั้งสิ้น บ่อยครั้งที่แพทย์สั่งตรวจพิเศษเหล่านี้หลายๆอย่าง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด

ตรวจวิธีไหนบอกหัวใจโต ได้ดีที่สุด
ไม่มีวิธีไหนดีที่สุดโดยไม่มีข้อจำกัดในการตรวจเลย วิธีดูขนาดหัวใจที่ยอมรับกันว่าดีมากในปัจจุบัน คือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียง ความถี่สูง หรือ คลื่นอัลตราซาวน์นั่นเอง การตรวจชนิดนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “เอกโค่คาร์ดิโอกราฟฟี่” (echocardiography) หลักการคือ เครื่องมือจะส่งคลื่นเสียงเสียง ความถี่สูง ทะลุผ่านอวัยวะต่างๆที่จะตรวจเมื่อผ่านส่วนต่างๆคลื่นเสียงเหล่านี้จะสะท้อนกลับ ความสามารถในการสะท้อนกลับขึ้นอยู่กับชนิดของ เนื้อเยื่อที่มันผ่าน เช่น เลือด กระดูก กล้ามเนื้อ เหล่านี้ให้สัญญาณการสะท้อนกลับแตกต่างกัน คอมพิวเตอร์จะบันทึกสัญญาณสะท้อนกลับเหล่านี้ นำมาสร้างภาพขึ้นเห็นเป็นอวัยวะที่แพทย์กำลังตรวจอยู่ ดังนั้นหากตรวจที่หัวใจ ก็จะเห็นห้องหัวใจ ซึ่งวัดขนาดได้ว่าโตหรือไม่ เห็นการทำงาน ของลิ้นหัวใจ เห็นกล้ามเนื้อหัวใจ และ ความ สามารถในการบีบตัวว่าเป็นอย่างไร จึงให้รายละเอียดได้มากกว่าการตรวจอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจชนิดนี้ไม่เห็น หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ และเห็นภาพไม่ชัดนักในผู้ป่วยที่อ้วนหรือมีโรคปอด (ยกเว้นการตรวจโดยผ่านหลอดอาหาร)

ผู้ที่มีอาการของหัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือตรวจร่างกายทางระบบหัวใจผิดปกติ ควรได้รับการตรวจนี้ เพื่อดูความสามารถในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนั้นแล้วผู้ที่เอกซเรย์พบว่าขนาดโตกว่าปกติบางราย ควรดูให้แน่ใจว่า โตจริงไหม ทั้งนี้แล้วแต่แพทย์โรคหัวใจ จะพิจารณาเป็นรายๆ ในผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด เช่น เบาหวาน หากพบว่า หัวใจโตจากเอกซเรย์ก็ควรตรวจละเอียดเช่นกัน เนื่องจาก ภาวะหัวใจโตไม่จำเป็นต้องมีอาการ

หัวใจโต รักษาได้
การรักษาภาวะหัวใจโต คือการรักษาตามสาเหตุ เช่น รักษาความดันโลหิตสูง ผ่าตัดลิ้นหัวใจ หรือรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น แม้ว่าการรักษาอาจ ไม่ได้ลดขนาดหัวใจลงให้เห็นได้ชัดเจนจากเอกเรย์ในบางราย แต่การรักษาจะช่วยป้องกันไม่ให้โตขึ้นเรื่อยๆได้

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เสี่ยงแค่ไหน หัวใจคุณ Know Your Risk


ในวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน กันยายน องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็น "วันหัวใจโลก" ในปีนี้ตรงกับอาทิตย์ที่ 28 กันยายน 2551 มีคำขวัญว่า Know Your Risk หมายความว่า คุณทราบไหมว่า ตัวคุณเองมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณคนควรทราบ เพราะหากเราจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก ย่อมหมายความว่าโอกาสที่เราจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย (Heart Attack) ในอนาคตก็มีมากตามไปด้วย ยิ่งจำเป็นต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เกือบทั้งหมดสามารถแก้ไขให้ดีได้ด้วยตัวเอง และจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต



โรคหลอดเลือดหัวใจ และ ปัจจัยเกี่ยวข้อง

คำว่าโรคหัวใจมีความหมายกว้าง เพราะจะหมายถึงความผิดปกติของหัวใจที่อาจเกิดได้ทุกระบบ ตั้งแต่ เยื่อหุ้มหัวใจ ลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ไฟฟ้าหัวใจ ไปจนหลอดเลือดหัวใจ ในบทความนี้จะเน้นเฉพาะโรคหัวใจที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบเท่านั้น

ทำไมหลอดเลือดหัวใจจึงตีบ
หลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเป็นหลอดเลือดแดง ผนังด้านในบุด้วยเซลชั้นเดียว เมื่อเกิดมาใหม่ๆ ผนังด้านในของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายจะสะอาด เสมือนท่อน้ำประปาที่เพิ่งเริ่มใช้งาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เซลบุผิวเริ่มเสื่อมสภาพและมีไขมันโคเลสเตอรอลเข้าไปสะสมอยู่ในชั้นผนังด้านในของหลอดเลือดหัวใจ ในระยะแรกของการสะสม หลอดเลือดหัวใจจะมีการปรับตัวขยายใหญ่ขึ้นเพื่อให้เลือดยังคงไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดี แต่หากยังคงมีการสะสมของไขมันโคเลสเตอรอลมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเกิดการตีบของหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่สะดวก เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการมักจะเจ็บแน่น จุก บริเวณหน้าอก หรือ ลิ้นปี่ อาจร้าวไปกราม ไหล่ แขนได้ มักจะเกิดขณะออกแรง เมื่อหยุดพักก็จะดีขึ้น แต่หากอาการรุนแรงมากอาจเกิดขึ้นขณะพักได้

กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือ Heart Attack เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจทันทีทันใดหรือภายในเวลาอันรวดเร็ว สิ่งที่อุดตันไม่ใช่ไขมันลอยไปอุด แต่เป็นลิ่มเลือดที่เป็นผลมาจากการแตกของตะกรันไขมันโคเลสเตอรอลที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันพบได้บ่อยในผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบไม่รุนแรง จึงไม่แปลกใจที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่ไม่เคยมีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจมาก่อน หรือแม้แต่ในผู้ที่มีผลการตรวจสุขภาพปกติก็ตาม กลไกการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) แตกต่างไปจากหลอดเลือดหัวใจที่ค่อยๆตีบ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ เกิดจากไขมันโคเลสเตอรอลที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจนั่นเอง ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก แม้จะมาถึงโรงพยาบาลแล้วก็ตาม ถึงจะรอดชีวิตแต่หากเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นบริเวณกว้าง หัวใจจะบีบตัวได้ไม่ดีเช่นเคย และ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) ตามมาในอนาคต

ทำไมจึงมีไขมันโคเลสเตอรอลสะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจ
ในวัยเด็กหลอดเลือดหัวใจจะสะอาดไม่มีไขมันสะสม แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน พบว่ามีไขมันไปสะสมอยู่ และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตามอายุ บางคนเพิ่มเร็ว บางคนเพิ่มช้า ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการสะสมของไขมันในหลอดเลือดหัวใจเร็วขึ้น เรียกว่า ปัจจัยเสี่ยง ความจริงแล้วการสะสมดังกล่าวเกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายไม่ใช่เฉพาะหลอดเลือดหัวใจเท่านั้น ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ มีดังนี้

อายุและเพศ หลอดเลือดแดงจะเกิดการเสื่อมสภาพตามอายุที่เพิ่มขึ้น ในเพศชายจะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเร็วกว่าเพศหญิงประมาณ 10 ปี เชื่อว่าเพราะเพศหญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยป้องกัน แต่อย่างไรก็ตามในสตรีวัยทอง การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนกลับไม่ได้ลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแต่ประการใด

พันธุกรรม ทุกโรคล้วนเกี่ยวข้องกับ “ยีน” ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม พันธุกรรมจึงตัวกำหนดที่สำคัญ ผู้ที่มีบิดา หรือ มารดา เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควร มีโอกาสที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสูงกว่าคนทั่วไป ในผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูงมากจากความผิดปกติทางพันธุกรรม หากไม่รับการรักษาจะเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นส่วนใหญ่

การสูบบุหรี่ สารหลายชนิดจากบุหรี่เป็นตัวเร่งให้หลอดเลือดแดงทั่วร่างกายเกิดการเสื่อมสภาพ ไม่เฉพาะหลอดเลือดหัวใจ แต่ยังรวมถึงหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงขา สมอง หรือ อวัยวะเพศชาย ด้วย จึงก่อให้เกิดโรคจำนวนมาก เมื่อหลอดเลือดแดงเสื่อมก็จะเกิดการตีบตามมาในที่สุด

อ้วนลงพุง เป็นปัจจัยที่พบมากขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย อ้วนลงพุง เป็นบ่อเกิดของความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตามมา

ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแดงที่ต้องรับแรงกระแทกจากความดันโลหิตสูงจะเกิดการเสื่อมสภาพได้ง่าย และเกิดการสะสมของไขมันโคเลสเตอรอลในผนังด้านในของหลอดเลือดแดงมากขึ้น

เบาหวาน การที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะทำให้หลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เกิดการเสื่อมได้เร็วมาก ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงตีบทั่วไป ทั้งหัวใจ สมอง ไต หรือ ขา นอกจากนั้นเบาหวานยังทำให้ไขมันในเลือดผิดปกติตามมาด้วย จึงเร่งการสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดง ผู้ป่วยเบาหวานในยุคปัจจุบันนี้ไม่ได้เสียชีวิตจากน้ำตาลอีกต่อไป แต่จะเสียชีวิตจากปัญหาโรคหลอดเลือดแดง เช่น โรคหัวใจ สมอง ไตวาย หรือ โรคติดเชื้อ

ไขมันในเลือดผิดปกติ ไขมันโคเลสเตอรอลสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมัน แอล ดี แอล โคเลสเตอรอลสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากในการก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพราะไขมันเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ไปสะสมในผนังของหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดการตีบ และหากเกิดการแตกของตะกรันไขมัน ก็จะเกิดการอุดตันจากลิ่มเลือดทันทีทันใด ซึ่งอันตรายมาก ไขมัน เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดดี ทำหน้าที่ขนถ่ายไขมันที่สะสมอยู่ออกมาทำลาย ดังนั้น ไขมันชนิดนี้ ยิ่งสูงยิ่งเป็นผลดี ในทางตรงกันข้ามหากต่ำจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการตีบของหลอดเลือดหัวใจ นอกจากไขมัน แอล ดี แอล โคเลสเตอรอลสูงแล้ว ในคนไทยยังพบว่า ไขมัน เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล ต่ำ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง

ปัจจัยที่ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงหลายประการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น อายุ เพศ พันธุกรรม แต่ปัจจัยเสี่ยงหลายข้อสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และ มีผลลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันลง ได้แก่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ออกกำลังกายมากขึ้น เช่น เดินมากขึ้น ทำงานบ้าน ฯลฯ การรับประทานผักผลไม้ ก็มีส่วนช่วยในการลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แม้กระทั่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณที่เหมาะสมก็ได้ประโยชน์ แต่เป็นสิ่งที่ไม่แนะนำเนื่องจากผลเสียด้านอื่นๆของแอลกอฮอล์ มีมากกว่าผลดีในการป้องกันโรคหัวใจ การหยุดบุหรี่แม้จะสูบมานานก็ช่วยลดปัญหาจากหลอดเลือดหัวใจเช่นกัน

ในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การควบคุมความดันโลหิต และ น้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติที่สุด จะช่วยลดปัญหาจากภาวะหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตก หลอดเลือดหัวใจตีบลงได้ สำหรับในเรื่องของไขมันในเลือดสูงนั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีข้อมูลการศึกษามากที่สุด ข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า การลดระดับไขมันโคเลสเตอรอล รวม และ แอล ดี แอล ดคเลสเตอรอล นั้นได้ประโยชน์ในการป้องกันปัญหาจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งในผู้ที่ยังไม่เคยมีโรคหลอดเลือดหัวใจมาก่อน หรือ ในผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจเกิดขึ้นแล้ว ไขมัน แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล ยิ่งต่ำยิ่งได้ประโยชน์ในการป้องกันผลแทรกซ้อนของโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการป้องกัน Heart Attack

จะเห็นได้ว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีปัจจัยหลายประการเกี่ยวข้อง ทั้งปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น อายุ เพศพันธุกรรมไปจนถึงปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ดังนั้นหลักการสำคัญในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ไม่อ้วน ไม่สูบบุหรี่ รับประทานผักผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันจากสัตว์ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากมีความดันโลหิตสูง น้ำตาลในในเลือดสูงหรือ ไขมันในเลือดสูงก็ควรควบคุมให้ปกติที่สุด และรับประทานยาต่อเนื่องหากจำเป็น


วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2551

หลักการควบคุมความดันโลหิตสูง

จะเห็นได้ว่า ผมตั้งหัวข้อว่า หลักการควบคุมความดันโลหิตสูง แทนที่จะเป็นการรักษา เพราะความเป็นจริง ความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่เกือบร้อยเปอร์เซนต์ ไม่สามารถจะรักษาให้หายขาดได้ครับ จำเป็นต้องดูแล รับประทานยากันตลอดชีวิต เช่นเดียวกันกับโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ครับ การรับประทานยานานๆเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ชอบครับ และ มีส่วนทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง

ทำไมต้องควบคุมความดันโลหิต เป็นเรื่องที่ต้องทราบเพราะหากผู้ป่วยเข้าใจเหตุผลแล้ว ผมเชื่อว่าผู้ป่วยจะยอมรับประทานยาไปตลอด การปล่อยให้มีความดันโลหิตสูงนานๆมีผลเสียต่อหลายอวัยวะครับ โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือด สมองและไต เช่น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพาต เลือดออกในสมอง ไตวาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนเอเชีย(ไทย)นั้น ความดันโลหิตสูงสัมพันธ์กับ เลือดออกในสมองอย่างชัดเจนครับ

ที่สำคัญคือ การศึกษายืนยันแล้วว่า การลดความดันโลหิตลงมาแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถลดการเกิดอัมพาต โรคหัวใจลงได้ชัดเจน การลดความดันโลหิตเพียงแค่ 2 มิลลิเมตรปรอท จะลดอัตราการตายจากโรคหัวใจ ลง 7 % และลดอัตราการตายจากโรคสมอง 10% ดังนั้นหากควบคุมให้ปกติที่สุด ก็จะช่วยป้องกันโรคหัวใจและอัมพาตจากหลอดเลือดสมองแตกได้มากนะครับ

ทำไมผู้ป่วยถึงไม่อยากรับประทานยาต่อเนื่อง คงมีหลายเหตุผล เช่น ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องรับประทานยา หรือ จำนวนเม็ดมาก หรือ ลืม หรือ มีผลแทรกซ้อนจากยาจนทำให้ไม่อยากรับประทาน

การควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ 140/80 มม.ปรอม (130/80 มม.ปรอทในผู้ป่วยเบาหวาน หัวใจ ไตเสื่อม) เป็นตัวเลขเป้าหมายครับ จากการศึกษาต่างๆพบว่าการควบคุมความดันโลหิตให้ได้ดีขนาดนั้นมีความจำเป็นต้องใช้ยาลดความดันโลหิต เฉลี่ย 2-3 ตัวขึ้นไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ป่วยแต่ละคนได้รับยาหลายเม็ด ยิ่งมีหลายโรคร่วมกันจำนวนเม็ดยายิ่งเพิ่มขึ้น

เรื่องผลแทรกซ้อน หรือ ผลข้างเคียงจากยาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ยาลดความดันโลหิตแทบทุกชนิดมีผลข้างเคียง แต่ในขณะเดียวกัน การไม่ควบคุมความดันโลหิต ก็เป็นผลเสียร้ายแรงเช่นกัน ปัจจุบันแพทย์พยายามช่วยผู้ป่วยโดยเลือกใช้ยาลดความดันโลหิตที่มีผลข้างเคียงน้อยที่สุดอยู่แล้วครับ เช่น ยากลุ่มที่เรียกว่า Angiotensin Receptor Blockage หรือตัวย่อ ARB เป็นยาลดความดันโลหิตที่ดีและผลข้างเคียงต่ำมากๆ เสียแต่ราคาแพง หรือ ยากลุ่ม Calcium Channel Blocker (CCB) ก็เป็นอีกกลุ่มที่ลดความดันโลหิตได้ดี แต่หากให้ขนาดสูงอาจจะทำให้เท้าบวมได้

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันยังมีการนำเอายาลดความดันโลหิต 2 ชนิด เช่น ARB รวมกับ CCB ในเม็ดเดียวกัน เพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วยมาก จำนวนเม็ดยาจะน้อยลงครับ โดยที่ราคาไม่แพงขึ้น ยาแบบนี้บ้านเราก็มีจำหน่ายแล้วเช่นกันครับในชื่อการค้า Exforge

วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ความดันโลหิตสูง : ฆาตกรเงียบ







การที่เลือดไหลเวียนในร่างกายได้นั้น เกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ไล่เลือดออกจากหัวใจไปอยู่ในหลอดเลือดแดงเพื่อนำอาหารและอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงเซลต่างๆ แรงดันที่เกิดขึ้นในหลอดเลือดนี่เอง ที่เราเรียกความ แรงดันเลือด หรือ ความดันโลหิต ซึ่งมีสองค่าเสมอ คือ ตัวบน (หัวใจบีบตัว) และ ตัวล่าง (หัวใจคลายตัว) เช่น 130/80 หน่วยนับของความดันโลหิตที่นิยมใช้กันคือ มิลลิเมตรปรอท

ความดันโลหิต ที่"ปกติ" เป็นเท่าไหร่ ความจริงแล้วอยากเรียนว่าไม่มีค่าที่ปกติจริงๆคือ ไม่มีขาว ดำ ไม่มีปกติ ผิดปกติ แต่เป็นค่าที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนดขึ้นว่า ค่าความดันโลหิต ควรจะเป็นเท่าไหร่ถึงจะปลอดภัยที่สุดมากกว่า สรุปง่ายๆคือ

ค่าที่เหมาะสมที่สุด คือ น้อยกว่า 120/80 มม.ปรอท


ค่าที่ยอมรับได้ 130/85 มม.ปรอท


เริ่มๆจะสูง 130-139/85-89 มม.ปรอท ค่านี้ถือว่า "ไม่ปกติ" เพราะจากการติดตามกลุ่มที่มีความดันโลหิตระดับนี้ไปนานๆ พบว่ากลายเป็นความดันโลหิตสูง และมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง มากกว่าคนที่ความดันโลหิต 120/80 มม.ปรอท อย่างชัดเจน จึงเป็นกลุ่มที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ


จะถือว่ามีความดันโลหิตสูงเมื่อค่ามากกว่า 140/90 มม.ปรอท


ความดันโลหิตสูง ไม่จำเป็นต้องมีอาการ ทราบได้จากการวัดความดันโลหิตเท่านั้น ผู้ป่วยบางรายไม่เคยตรวจสุขภาพไม่เคยวัดความดันโลหิตมาก่อน เพราะคิดว่าสบายดี กว่าจะรู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูงก็เกือบสายไปแล้ว ดังนั้น จึงเปรียบเทียบความดันโลหิตสูงเสมือนฆาตกรเงียบ silent killer ที่ทำลายอวัยวะสำคัญๆในร่างกาย ทั้งหลอดเลือดสมอง หัวใจ ไต ตา หลอดเลือดแดงใหญ่ กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานหนักมากอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้....

ตรวจสุขภาพ วัดความดันโลหิตเสียแต่วันนี้ หากพบว่ามีความดันโลหิตสูง ควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้ไม่หายขาด อย่าหยุดยาเอง การละเลยไม่รักษาอาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรง เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดแดงใหญ่แตก หลอดเลือดสมองแตก เป็นต้น

"โรคหัวใจ" คำนี้มีความหมายมากมายนัก

ผมเจอคำถามบ่อยครั้งว่า "เป็นโรคหัวใจ หรือเปล่าครับ" เป็นคำถามที่ตอบยากมากหากจะตอบให้ถูกต้อง เพราะคำว่าโรคหัวใจในความหมายของหมอนั้นมันมีมากมาย แต่ โรคหัวใจในความหมายคนไข้นั้น มีไม่กี่โรคเองครับ แถมบางโรคที่คนไข้คิดว่าเป็นโรคหัวใจ ก็ไม่ใช่โรคสักหน่อย....
โรคหัวใจ ในความหมายหมอ จะแบ่งตามระบบหรือกายวิภาคของหัวใจครับ ไล่ไปตั้งแต่ โรคเยื่อหุ้มหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ (ตีบ รั่ว) โรคหัวใจพิการหรือผิดปกติแต่กำเนิด โรคระบบไฟฟ้าหัวใจ นี่เป็นโดยกลุ่มใหญ่ๆนะครับ ที่สำคัญคือ ความผิดปกติของส่วนใด หรือ ระบบใด ก็จะไปมีผลต่อระบบอื่นๆได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย (heart attack) ทำให้ระบบไฟฟ้าหัวใจแปรปรวน เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง (VF) เสียชีวิตได้ หรือ ผลของกล้ามเนื้อหัวใจที่ทำงานน้อยลง บีบตัวน้อยลง เกิดปัญหาภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) ตามมา เป็นต้น

บางที คนไข้ถามมา ว่าเป็นหรือไม่เป็น หมอก็ คงตอบได้เพียงว่า ไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง (ตีบน้อยๆ ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนนะครับ จากการตรวจทั่วไป) หรือ ไม่เป็นโรคลิ้นหัวใจรุนแรง หรือ กล้ามเนื้อหัวใจปกติดี อะไรแบบนั้น แต่จะบอกว่า หัวใจทั้งดวงปกติ คงยากเพราะความผิดปกติเล็กๆน้อยๆซ่อนอยู่โดยไม่แสดงอาการก็เป็นได้ครับ.....

วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เริ่มต้น Blog หัวใจกับหมอหัวใจ


ก่อนอื่นเลย ผมมีความคิดที่จะเขียน blog แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่รู้จะเขียนแนวไหนดี สุดท้ายก็คงไม่พ้นเรื่องราวรอบตัว เรื่องราวเกี่ยวกับโรคหัวใจ ตั้งใจอยากจะเขียนแบบสบายๆ ไม่วิชาการจนเกินไป แต่ก็คงมีปนเปบ้าง เผื่อมีคนเข้ามาอ่าน จะได้รับความรู้บ้างนะครับ แต่ก็ต้องเข้าใจเรื่องข้อจำกัดในการให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสุขภาพ โรค เช่นกัน การที่จะให้ความเห็นแต่ละเรื่องได้นั้น บางเรื่องก็ง่ายๆครับ แต่บางเรื่องยากมากเพราะต้องมีข้อมูลประกอบแยะมั๊กๆ ร่างกายคนเรามันไม่ใช่ 1+1 = 2 แถมแต่ละคนแม้โรคเดียวกันก็มีรายละเอียดต่างกันมาก คำแนะนำหรือความเห็นจึงแตกต่างกันไปครับ หวังว่าคงเข้าใจนะครับ สำหรับวันนี้แค่นี้ก่อน สุดสัปดาห์นี้ผมจะไปฮ่องกงครับ มีการประชุมความรู้เกี่ยวกับยารักษาความดันโลหิตสูงกลุ่มใหม่ มีอะไรน่าสนใจผมจะเข้ามาเล่านะครับ