วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เมื่อ หัวใจต้อง บายพาส


พวกเราคงคุ้นเคยกับคำว่า บายพาส ที่ใช้กับถนนสายเลี่ยงเมืองแล้วใช่ไหมครับ ซึ่งก็คือ การตัดถนนเส้นใหม่ อ้อมเมือง ไม่เข้าเมืองนั่นเอง คำว่า บายพาสเป็นการใช้ตามภาษาอังกฤษที่เขียน bypass เนื่องจากเป็นคำที่มักคุ้นกันอยู่ คำว่า การผ่าตัดหัวใจบายพาส ในที่นี้หมายถึง การผ่าตัดทำทางเดินเลือดใหม่ครับ โดยอาศัยหลอดเลือดจากตัวเราเองที่บริเวณอื่นๆมาทำ ทางเบี่ยงเพื่อให้เลือดยังคงสามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ตามปกติ ทางเส้นใหม่หรือหลอดเลือดใหม่นั้น อาจจะใช้หลอดเลือดดำที่ขา หรือ หลอดเลือดแดงก็ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าตัดออกมาใช้แล้วจะไม่เกิดปัญหาครับ

เมื่อเอ่ยคำว่าผ่าตัดหัวใจ หลายคนก็ขยาดแล้ว ฟังดูน่ากลัว ซึ่งจริงๆก็น่ากลัวพอสมควร ดังนั้น แพทย์จะแนะนำการรักษาด้วยการผ่าตัดเฉพาะรายที่ไม่สามารถทำการขยายหลอดเลือดหัวใจได้เท่านั้น หรือ เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้วการผ่าตัดได้ประโยชน์กับผู้ป่วยมากกว่าจึงแนะนำครับ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบหลายจุด หรือตีบเป็นแนวยาว กรณีเช่นนี้แม้จะขยายด้วยบอลลูน(ลูกโป่ง)ได้ แต่ก็มักมีการตีบซ้ำบ่อยและค่าใช้จ่ายสูงมากเพราะต้องทำหลายจุด หรือ บางครั้งหลอดเลือดหัวใจตีบตรงส่วนล่างๆ ไม่สามารถตามไปขยายได้ หรือ ตีบที่ขั้วเลย เป็นต้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันการขยายหลอดเลือดมีการพัฒนาไปอย่างมากทั้งเทคนิก และ เครื่องมือ ทำให้สามารถขยายหลอดเลือดได้เกือบทุกราย เพียงแต่ ผลในระยะยาวอาจจะดีแตกต่างกันไปบ้าง บางครั้งแย่กว่าการผ่าตัด

เมื่อคุณหมอแนะนำผ่าตัด สิ่งแรกที่ผู้ป่วยรู้สึกคือ ตกใจ กลัวเจ็บ ไม่อยากทำ แต่ขอให้ตั้งสติสักครู่ ไม่มีใครไม่กลัวหรอกครับ แต่ก็เห็นผ่านรอดชีวิตกันมามากมาย บางคนเจ็บมากบางคนเจ็บน้อย บางคนบอกผมว่า ไม่เจ็บเลย! ผมเองก็ไม่อยากเชื่อว่าไม่เจ็บ แต่ภายหลังผ่าตัดคุณหมอจะให้ยาแก้ปวดจำนวนมากครับ ทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่แล้ว....

ก่อนผ่าตัด คุณหมอหัวใจ หรือ คุณหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจจะแนะนำ สอนเรื่องการหายใจลึกๆ เพื่อว่าหลังผ่าตัดจะได้หายใจได้ดี ถูกต้อง โอกาสเกิดปอดแฟบ ปอดอักเสบหลังผ่าตัดจะได้น้อยลงด้วย ผู้ป่วยควรร่วมมือนะครับ เพื่อผลประโยชน์ของท่านเอง เมื่อท่านรู้สึกตัวขึ้นอีกครั้ง แสดงว่าการผ่าตัดผ่านไปด้วยดี ท่านจะอยู่ใน ICU อาจมีท่อช่วยหายใจอยู่ในคอ มีสายคาท่อปัสสาวะ ซึ่งน่ารำคาญ แต่อย่าดึงออกนะครับเพราะจะยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น คุณหมอจะเอาท่อช่วยหายใจออกทันทีที่เห็นว่าท่านหายใจเองได้ดี นอกจากนั้นยังมีท่อ สายน้ำเกลือมากมาย พาลใจเสียเอาทั้งผู้ป่วยและญาติ แต่นั่นเป็นเรื่องปกติครับ ไม่ต้องกังวล

ระยะพักฟื้นในรพ.อาจเป็นช่วงที่เจ็บมากที่สุดเพราะยาแก้ปวดลดลง และเริ่มมีกิจกรรมมากขึ้น แต่เชื่อเถอะครับว่าเจ็บทนได้ ไม่ถึงขนาด “ทนพิษบาดแผลไม่ไหว” เหมือนที่เขาว่ากัน หากไม่มีปัญหาแทรกซ้อนอะไร ก็สามารถกลับบ้านได้ภายใน 7-10 วันหลังผ่าตัด กลับไปนั่งๆนอนๆเดินๆที่บ้านสักไม่กี่วันก็กลับไปทำงานได้แล้วครับ ยกเว้นงานที่ต้องเป็นกรรมกรแบกหาม แบบนั้นคงจะอีกนาน เพราะกระดูกหน้าอกยังเชื่อมกันไม่สนิทเวลาบิด หรือ ขยับตัว ยกแขน อาจจะเจ็บบ้าง เป็นธรรมดา

สิ่งหนึ่งที่ต้องจำคือ การผ่าตัดบายพาสแม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็ต่ำกว่า5% ที่จะเสียชีวิต แต่หากท่านไม่ทำอะไรเลย ท่านอาจมีความเสี่ยงสูงกว่านั้น หลังผ่าตัดแล้ว แม้ท่านจะสุขภาพแข็งแรง ไม่มีอาการอีก แต่ท่านยังคงต้องรับประทานยาไปตลอดเช่นกัน...

วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ยาอมใต้ลิ้น ไม่ใช่ยาวิเศษ



หลายๆคนคงเคยได้ยินมาว่า ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ต้องมียาอมใต้ลิ้นพกติดตัวไว้เป็นประจำ และ หากมีอาการเกิดขึ้น อมยาไม่ทัน ก็ตายลูกเดียว หรือ ในทางกลับกัน การอมยาใต้ลิ้นทันท่วงที จะช่วยไม่ให้เสียชีวิต !! สื่อทางโทรทัศน์ วิทยุ (ดีเจ) ละคร รวมทั้งแพทย์ที่ไม่รู้อีกมาก ล้วนสร้างภาพให้ ยาอมใต้ลิ้น เป็นเสมือนยาวิเศษ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เลย ยาอมใต้ลิ้น มีประโยชน์ก็จริงอยู่ แต่ไม่ใช่ยาวิเศษ ใช้ผิดอาจตายได้ด้วยซ้ำ

ยาอมใต้ลิ้น ที่ผู้ป่วยโรคหัวใจใช้นั้น คือ ยากลุ่ม ไนเตรท (nitrate) อาจมีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น ไนโตร (nitro) หรือ ไอ ซอ ดิล (isordil) แล้วแต่บริษัทผู้ผลิต เราเรียกรวมๆกันว่ายาไนเตรท ที่ใช้อมใต้ลิ้นแทนการรับประทาน เนื่องจากบริเวณกระพุ้งแก้ม ในช่องปาก มีหลอดเลือดเล็กๆมากมาย เมื่อยาละลายจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว ยาจึงออกฤทธิ์ภายในเวลาไม่กี่นาที และ แน่นอนหมดฤทธิ์เร็วด้วย ยานี้มีส่วนช่วยขยายหลอดเลือดหัวใจได้ชั่วคราว แต่กลไกสำคัญคือ การลดเลือดไหลเวียนกลับสู่ร่างกาย เนื่องจากยาไปขยายหลอดเลือดทั้งดำและแดง ทำให้หัวใจทำงานลดลง จึงลดอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบได้ชั่วคราว ขอเน้นว่า เพียงแต่ ลดอาการช่วยคราวแต่การตีบตันที่รุนแรงนั้นยังคงมีอยู่ ไม่ได้หายไปด้วยยาอมใต้ลิ้นแต่อย่างใด! ต้องไปพบแพทย์อยู่ดี

ยาจึงเหมาะในการช่วยบรรเทาอาการ “ชั่วคราว” ก่อนไปพบแพทย์ และสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบเท่านั้น หากอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบการอมยาใต้ลิ้น อาจทำให้เกิดผลแทรกซ้อนร้ายแรงได้ ต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่ใช่แจกยาไปทั่วทั้งๆที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ ....ด้วยความหวังดี จะกลายเป็นหวังร้าย

ยาอมใต้ลิ้นไม่ใช่ยาวิเศษ หากผู้ป่วยไม่ได้อมยาใต้ลิ้น ก็ไม่เสียชีวิต หากจะเสียชีวิตก็เสียชีวิตเพราะโรค ไม่ใช่เพราะไม่ได้ยาอมใต้ลิ้นแต่ประการใด หรือ อมยาใต้ลิ้นแล้ว ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่เสียชีวิตอีกเช่นกัน ยามีผลขยายหลอดเลือดรุนแรงทำให้ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด เป็นลม ปวดศีรษะ ในบางรายมีการตอบสนองผิดปกติ ที่เรียก autonomic dysfunction(vasovagal) ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นช้า เป็นลมหมดสติ.....

ประสบการณ์ผมมีคนไข้รายหนึ่งเป็นหมอ เพื่อนๆเป็นหมอด้วย ไปกินเลี้ยงกันสนุกสนาน หมอคนนี้บ่นแน่นๆหน้าอก เพื่อนๆหวังดี หยิบยาอมใต้ลิ้นมาให้กิน หนึ่งเม็ด สักพัก เอ..เห็นยังไม่หาย อมอีกเม็ดแล้วกัน... ไม่ทันไรเลยครับ หน้ามืด หน้าซีดเหงื่อออก ล้มลงจากเก้าอี้ เรียกไม่รู้ตัว เพื่อนๆที่เป็นคุณหมอจับชีพจรไม่ได้ (ไม่รู้จับนานแค่ไหน) เริ่มปั๊มหัวใจ...พาส่งรพ. ผมมาดู ซักประวัติได้ว่าผู้ป่วยรายนี้ ความดันโลหิตค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว แถมมีอาการหน้ามืดบ่อยๆ รับประทานยาหลายชนิดที่ลดความดันโลหิตอยู่อีกต่างหาก เมื่อโดนยาอมใต้ลิ้น เลยยิ่งแย่ เห็นไหมครับมากินเลี้ยงกันอยู่ดีๆ เกือบจะต้องไปงานศพ ไปเสียแล้ว แม้แต่หมอเองก็อย่าไว้ใจ....ไม่ใช่จะเก่งทุกเรื่อง

ยาอมใต้ลิ้น ไม่ใช่ยาวิเศษ ใช้บรรเทาอาการแน่นหน้าอกเฉพาะในคนที่เป็นโรคหัวใจเท่านั้น จำไว้ว่า ให้นั่งหรือ นอนอมยา อย่ายืน ความดันโลหิตจะต่ำลง ปวดศีรษะ เป็นลมได้ และ ห้ามใช้กับ ไวอกร้า รวมทั้งยาประเภทเดียวกันโดยเด็ดขาด กรุณาอย่าให้ยาแก่ผู้อื่นด้วยความหวังดี