วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เมื่อ หัวใจต้อง บายพาส


พวกเราคงคุ้นเคยกับคำว่า บายพาส ที่ใช้กับถนนสายเลี่ยงเมืองแล้วใช่ไหมครับ ซึ่งก็คือ การตัดถนนเส้นใหม่ อ้อมเมือง ไม่เข้าเมืองนั่นเอง คำว่า บายพาสเป็นการใช้ตามภาษาอังกฤษที่เขียน bypass เนื่องจากเป็นคำที่มักคุ้นกันอยู่ คำว่า การผ่าตัดหัวใจบายพาส ในที่นี้หมายถึง การผ่าตัดทำทางเดินเลือดใหม่ครับ โดยอาศัยหลอดเลือดจากตัวเราเองที่บริเวณอื่นๆมาทำ ทางเบี่ยงเพื่อให้เลือดยังคงสามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ตามปกติ ทางเส้นใหม่หรือหลอดเลือดใหม่นั้น อาจจะใช้หลอดเลือดดำที่ขา หรือ หลอดเลือดแดงก็ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าตัดออกมาใช้แล้วจะไม่เกิดปัญหาครับ

เมื่อเอ่ยคำว่าผ่าตัดหัวใจ หลายคนก็ขยาดแล้ว ฟังดูน่ากลัว ซึ่งจริงๆก็น่ากลัวพอสมควร ดังนั้น แพทย์จะแนะนำการรักษาด้วยการผ่าตัดเฉพาะรายที่ไม่สามารถทำการขยายหลอดเลือดหัวใจได้เท่านั้น หรือ เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้วการผ่าตัดได้ประโยชน์กับผู้ป่วยมากกว่าจึงแนะนำครับ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบหลายจุด หรือตีบเป็นแนวยาว กรณีเช่นนี้แม้จะขยายด้วยบอลลูน(ลูกโป่ง)ได้ แต่ก็มักมีการตีบซ้ำบ่อยและค่าใช้จ่ายสูงมากเพราะต้องทำหลายจุด หรือ บางครั้งหลอดเลือดหัวใจตีบตรงส่วนล่างๆ ไม่สามารถตามไปขยายได้ หรือ ตีบที่ขั้วเลย เป็นต้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันการขยายหลอดเลือดมีการพัฒนาไปอย่างมากทั้งเทคนิก และ เครื่องมือ ทำให้สามารถขยายหลอดเลือดได้เกือบทุกราย เพียงแต่ ผลในระยะยาวอาจจะดีแตกต่างกันไปบ้าง บางครั้งแย่กว่าการผ่าตัด

เมื่อคุณหมอแนะนำผ่าตัด สิ่งแรกที่ผู้ป่วยรู้สึกคือ ตกใจ กลัวเจ็บ ไม่อยากทำ แต่ขอให้ตั้งสติสักครู่ ไม่มีใครไม่กลัวหรอกครับ แต่ก็เห็นผ่านรอดชีวิตกันมามากมาย บางคนเจ็บมากบางคนเจ็บน้อย บางคนบอกผมว่า ไม่เจ็บเลย! ผมเองก็ไม่อยากเชื่อว่าไม่เจ็บ แต่ภายหลังผ่าตัดคุณหมอจะให้ยาแก้ปวดจำนวนมากครับ ทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่แล้ว....

ก่อนผ่าตัด คุณหมอหัวใจ หรือ คุณหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจจะแนะนำ สอนเรื่องการหายใจลึกๆ เพื่อว่าหลังผ่าตัดจะได้หายใจได้ดี ถูกต้อง โอกาสเกิดปอดแฟบ ปอดอักเสบหลังผ่าตัดจะได้น้อยลงด้วย ผู้ป่วยควรร่วมมือนะครับ เพื่อผลประโยชน์ของท่านเอง เมื่อท่านรู้สึกตัวขึ้นอีกครั้ง แสดงว่าการผ่าตัดผ่านไปด้วยดี ท่านจะอยู่ใน ICU อาจมีท่อช่วยหายใจอยู่ในคอ มีสายคาท่อปัสสาวะ ซึ่งน่ารำคาญ แต่อย่าดึงออกนะครับเพราะจะยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น คุณหมอจะเอาท่อช่วยหายใจออกทันทีที่เห็นว่าท่านหายใจเองได้ดี นอกจากนั้นยังมีท่อ สายน้ำเกลือมากมาย พาลใจเสียเอาทั้งผู้ป่วยและญาติ แต่นั่นเป็นเรื่องปกติครับ ไม่ต้องกังวล

ระยะพักฟื้นในรพ.อาจเป็นช่วงที่เจ็บมากที่สุดเพราะยาแก้ปวดลดลง และเริ่มมีกิจกรรมมากขึ้น แต่เชื่อเถอะครับว่าเจ็บทนได้ ไม่ถึงขนาด “ทนพิษบาดแผลไม่ไหว” เหมือนที่เขาว่ากัน หากไม่มีปัญหาแทรกซ้อนอะไร ก็สามารถกลับบ้านได้ภายใน 7-10 วันหลังผ่าตัด กลับไปนั่งๆนอนๆเดินๆที่บ้านสักไม่กี่วันก็กลับไปทำงานได้แล้วครับ ยกเว้นงานที่ต้องเป็นกรรมกรแบกหาม แบบนั้นคงจะอีกนาน เพราะกระดูกหน้าอกยังเชื่อมกันไม่สนิทเวลาบิด หรือ ขยับตัว ยกแขน อาจจะเจ็บบ้าง เป็นธรรมดา

สิ่งหนึ่งที่ต้องจำคือ การผ่าตัดบายพาสแม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็ต่ำกว่า5% ที่จะเสียชีวิต แต่หากท่านไม่ทำอะไรเลย ท่านอาจมีความเสี่ยงสูงกว่านั้น หลังผ่าตัดแล้ว แม้ท่านจะสุขภาพแข็งแรง ไม่มีอาการอีก แต่ท่านยังคงต้องรับประทานยาไปตลอดเช่นกัน...

1 ความคิดเห็น:

Cardiologista กล่าวว่า...


แสดงบอลหัวใจรักโพสต์และทุกคนที่เกี่ยวข้องในจักรวาลที่สวยงามแห่งนี้