วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551

คำถามเกี่ยวกับยาลดไขมันในเลือด


มีคำถามมากมายเกี่ยวข้องกับยาลดไขมันในเลือด ส่วนใหญ่ถามถึงความจำเป็นในการรับประทานยา การหยุดยา และผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น อาจตอบได้กว้างๆ ดังนี้

ยาลดไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในปัจจุบัน คือ ยากลุ่มสแตติน ซึ่งมีด้วยกันหลายยี่ห้อ ยาที่ออกมารุ่นแรกๆมักมีประสิทธิภาพต่ำกว่ายาที่ออกมาจำหน่ายภายหลัง แต่รุ่นแรกๆมักมีราคาถูกกว่าเนื่องจากหมดสิทธิบัตรแล้ว ยากลุ่มนี้ได้รับการศึกษา วิจัย อย่างมาก ทั้งในผู้ที่ยังไม่เป็นโรค และในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ผลการศึกษาล้วนออกมาในทางเดียวกัน คือ การลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดด้วยยากลุ่มนี้ ได้ประโยชน์ในการป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย ชะลอการตีบตันหลอดเลือดหัวใจ ป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตจากหลอดเลือดสมองตีบ ทั้งในผู้ที่ยังไม่เคยมีโรคหรือเกิดโรคแล้วก็ตาม นอกจากนั้นยังได้ประโยชน์แม้ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดมิได้สูงนักก็ตาม จึงอาจกล่าวได้ว่า ยากลุ่มนี้ ไม่เพียงเป็นยาลดไขมันเท่านั้น แต่ยังช่วยให้หลอดเลือดแดงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จึงจัดเป็นยาที่จำเป็นในผู้ป่วยโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งต้องรับประทานไปตลอดชีวิตแม้ว่าระดับไขมันจะลดต่ำลงมามากแล้วก็ตาม ไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากอาจเกิดผลเสียได้

ผลแทรกซ้อนจากยากลุ่มนี้มีได้เช่นเดียวกันกับยาทุกชนิด ที่เด่นคือ ค่าเอนไซมย์ตับ (SGOT/SGPT) และ เอนไซมย์กล้ามเนื้อ (CPK) สูงขึ้น ซึ่งอาจบ่งถึงการอักเสบหรือไม่ก็ได้ น้อยรายมากที่จะเกิดอาการของ “ตับอักเสบ” ชัดเจน หรือ กล้ามเนื้ออักเสบรุนแรง เรียกได้ว่าโอกาสเกิดกรณีเช่นนั้นพบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 หากค่า SGOT/SGPT สูงขึ้นกว่าเดิมไม่เกิน 3 เท่า หรือ CPK สูงขึ้นไม่เกิน 10 เท่าก็ไม่จำเป็นต้องหยุดยาแต่ประการใด อย่างไรก็ตาม ค่าต่างๆเหล่านี้อาจสูงขึ้นได้บ่อยๆในบางรายแม้ไม่รับประทานยา ดังนั้นค่าที่ผิดปกติไม่ได้หมายความว่าจะเกิดจากยาเสมอไป ผู้ที่รับประทานยากลุ่มนี้ควรตรวจค่าเอนไซมย์ดังกล่าวเป็นระยะๆ และ พบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง ขาไม่มีแรงลุก เดิน เป็นต้น ผลแทรกซ้อนจากยาอาจพบสูงขึ้นได้หากไม่ระมัดระวัง เช่น การรับประทานยากลุ่มนี้บางตัวร่วมกับยาปฏิชีวนะบางชนิดอาจเสริมกัน ทำให้ระดับยาในเลือดสูงขึ้นมากจนเป็นอันตราย จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานยาใดๆ นอกจากนั้นพันธุกรรมยังมีบทบาทด้วย บางรายมี “ยีน” ที่ส่งเสริมการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรงซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรได้รับยากลุ่มนี้อีกต่อไป

อาการปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย หรือ ตะคริว เป็นอาการที่พบบ่อย โดยผลเลือดมักจะปกติ อาการเช่นนี้อาจเกี่ยวข้องกับยาหรือไม่ก็ได้ หากมีอาการดังกล่าว แพทย์อาจทดลองให้หยุดยาชั่วคราวแล้วดูอาการ หรือ ลดขนาดยา หรือ แนะนำให้รับประทานยาอื่นๆแก้ไขตามอาการ การให้ Co Q10 รับประทานในบางรายอาจช่วยลดอาการตะคริวได้