วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

โรคหัวใจ จากความเครียด

ความผิดปกติของหัวใจเกิดได้จากหลายสาหตุ และ ทุกส่วนของหัวใจ โรคที่พบบ่อยๆ คือ โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ที่จะมาเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นกลุ่มโรคหัวใจอีกชนิดหนึ่ง ที่กำลังเป็นที่น่าสนใจ ยังไม่มีชื่อเรียกในภาษาไทยที่แน่นอน ขณะนี้ผมขอเรียกว่า โรคหัวใจจากความเครียด ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษ คือ stress induced cardiomyopathy ชื่อภาษาไทยอาจยังไม่ถูกต้องนักครับเพราะสาเหตุไม่ได้เกิดจากความเครียดทางจิตใจแต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการที่มี ความเครียดต่อหัวใจโดยตรงด้วย บางคนจึงเรียกว่า “โรคอกหัก” (broken heart syndrome) แต่ในญี่ปุ่นจะใช้ชื่อว่า Takosubo cardiomyopathy ตามลักษณะที่เห็นจากการฉีดสีดูหัวใจ

ประเทศญี่ปุ่นรายงานโรคหัวใจชนิดนี้อย่างมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุมาก แต่ความจริงก็พบได้ในเพศชาย และพบได้ทุกกลุ่มอายุในผู้ใหญ่ อาการที่นำผู้ป่วยมารพ.ก็จะเหมือนกับ อาการเจ็บแน่นหน้าอก ที่เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน บางรายมีอาการรุนแรงจนช็อก หรือ มีน้ำท่วมปอดได้เนื่องจากการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ การตรวจเลือด หรือ คลื่นไฟฟ้าหัวใจให้ผลผิดปกติคล้ายคลึงกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเช่นกัน หรือ แม้แต่การตรวจด้วยเครื่อง ultrasound ก็แยกไม่ออกระหว่างโรคนี้ กับโรคหลอดเลือดหัวใจ สิ่งเดียวที่จะบอกได้คือ การฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งพบว่าหลอดเลือดหัวใจปกติ ไม่มีการตีบตันรุนแรง แต่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงบางส่วน ปัจจุบันเชื่อว่ากลุ่มอาการนี้เกิดจาก หัวใจได้รับการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติที่กล้ามเนื้อหัวใจอย่างรุนแรง ซึ่ง อาจจะเกิดจากความเครียดรุนแรงทางจิตใจ หรือ การได้รับยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัตินี้ รวมถึงยาบ้า ยาเสพติดบางชนิดด้วย

โรคนี้ไม่มีวิธีรักษาเฉพาะ อาการต่างๆจะค่อยๆดีขึ้นใน 1-8 สัปดาห์ แต่บางรายก็รุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น ควรทำจิตใจให้เบิกบาน ไม่เครียด ตามหลักศาสนาพุทธ ดูจะเหมาะสมที่สุดกับยุคปัจจุบัน

ภาพการตรวจ ultrasound หัวใจ ภาพ A แสดงกล้ามเนื้อหัวใจด้านหน้าอ่อนแรง บีบตัวผิดปกติอย่างมาก ขนาดห้องหัวใจโตขึ้น ส่วนภาพ B เป็นผู้ป่วยรายเดียวกันเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจกลับมาทำงานตามปกติ

วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552

โรคหัวใจในผู้สูงอายุ

วันหนึ่งผมเข้าไปในห้อง ICU เห็นผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นผู้หญิงวัยกลางคน ผมรู้สึกแปลกใจจนต้องหยิบแฟ้มมาดูว่าเธอมาทำอะไรที่นี่ ทำไมผมถึงแปลกใจ ก็เพราะผู้ป่วย ICU รพ.นี้ล้วนแต่อายุมากกว่า 70 ปี เป็นส่วนใหญ่ บางครั้งนับรวมๆกันทั้งห้องก็เกือบ 1000 ปีเลยละครับ เมื่อการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น ผู้คนอายุยืนขึ้น ก็จะพบผู้ป่วยสูงอายุมากขึ้น แน่นอนว่าปัญหาโรคหัวใจ และ หลอดเลือดใน ผู้สูงอายุย่อมมีมากขึ้นด้วย

โรคหลอดเลือดแดงเสื่อมและแข็งตัว
หากมีโอกาสคลำหลอดเลือดแดงหรือชีพจรที่ข้อศอก(ด้านใน)หรือข้อมือของผู้สูงอายุดู จะพบว่าเป็นเส้นแข็ง ไม่ยืดหยุ่น เหมือนวัยหนุ่มสาว ทั้งนี้เนื่องจากว่าหลอดเลือดแดงเหล่านี้เกิดการเสื่อมสภาพตามอายุ มีไขมันและหินปูน (แคลเซียม) เข้าไปสะสม อยู่ตามผนังของหลอดเลือดแดง ทำให้ หลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นและแข็ง ยิ่งมีหินปูนสะสมมากก็จะแข็งมาก (หินปูนนี้ไม่เกี่ยวข้อง กับปริมาณแคลเซียมในเลือดหรืออาหารที่เรารับประทาน) ความจริงแล้วมีหลายปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดแดงเกิดการเสื่อม เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน บุหรี่ เป็นต้น แต่ “อายุ” ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากและ เราไม่อาจเลี่ยงได้ หลอดเลือดแดงที่เสื่อมนี้ จะเกิดทั่วร่างกาย ทั้งหลอดเลือดที่เลี้ยงสมอง หัวใจ ไต ฯลฯ และแน่นอนเมื่อเกิดการเสื่อม ก็จะเกิดการตีบตัน ของหลอดเลือดเล็กๆ ตามมา เป็นผลให้เลือดเลี้ยงสมองลดลง เกิดเนื้อสมองตายเป็นบางส่วน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย ไตเสื่อม ล้วน แต่เป็นผลตามมาเนื่องจากหลอดเลือดแดงเสื่อมทั้งสิ้น แล้วเราจะป้องกันได้อย่างไร เป็นที่น่าเสียดายที่เรายังไม่สามารถหยุดอายุ หยุดความเสื่อมของ ร่างกายลงได้ ดังนั้นสิ่งนี้ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอเมื่ออายุมากขึ้น แต่ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ควรจะต้องระวังรักษาตัวให้ดี เพราะความเสื่อมนี้จะมา เยือนเร็วกว่าที่ควร

ความดันโลหิตสูง
กล่าวกันว่า ความดันโลหิตสูงเป็นของคู่กันกับผู้สูงอายุ การที่ความดันโลหิตสูงพบบ่อยขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก หลอดเลือดแดงแข็งตัว ผิดปกติ บางส่วนเป็นผลจากการที่ไตขาดเลือดไปเลี้ยง แต่ก่อนเราเชื่อว่าความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ เป็นของปกติ ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่วันนี้ความรู้นี้เปลี่ยนไปแล้ว ความดัน โลหิตสูงในผู้สูงอายุก็เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาแทรกซ้อนต่างๆ เช่นเดียวกันกับความดันโลหิตสูงทั่วไป และ พบว่าการลดความดันโลหิต ที่สูงลงก็จะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาต (stroke) และลดปัญหาจากโรคหัวใจขาดเลือดด้วย ความดันโลหิตในผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม ควรจะน้อยกว่า 140/90 มม.ปรอท การรักษาความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ใน ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากหากลดความดันโลหิตลงมากเกินไป หรือ ลดลงเร็วเกินไป เลือดจะไป เลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และมีผลให้สมองขาดเลือด เกิดอัมพาตขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยสูงอายุที่มีความดันโลหิตสูง ควร ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ควรได้รับการวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ และ ควรวัดความดันโลหิตในขณะ ที่ผู้ป่วยนั่งและ ยืนด้วย

ลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ
ลิ้นหัวใจก็เช่นกัน ทำหน้าที่ปิด เปิด สะบัดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เคยพัก ย่อมเกิดการเสื่อมตามมา นั่นคือเริ่มมีหินปูน (แคลเซียม) สะสมที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจที่เคยสะบัดพริ้ว ปิดแน่น เริ่มแข็งขึ้น สะบัดไม่ดี ปิดไม่สนิท เกิดลิ้นหัวใจรั่วตามมา ในบางรายมีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจอย่างมาก จนลิ้นหัวใจไม่สามารถเปิดได้เต็มที่ ก็เกิดปัญหาลิ้นหัวใจตีบขึ้น ซึ่งหากเป็นมากก็จะชักนำให้หัวใจ ทำงานหนักขึ้น จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ สำหรับเรื่องของ ลิ้นหัวใจนี้ หากเป็นไม่มาก ไม่ว่าจะตีบหรือรั่วก็ตาม ไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะไม่มี การรักษาเฉพาะ มีแต่รักษาตามอาการ (ซึ่งถ้า เป็นน้อยจริง ก็ไม่น่าจะมีอาการ) แต่หากเป็นมาก การรักษาคือต้องแก้ที่ลิ้นหัวใจ เช่น อาจรักษาด้วยบอลลูน ถ่างลิ้นหัวใจ หรือ การผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวสำหรับผู้สูงอายุ

โรคหัวใจขาดเลือด
โรคหัวใจขาดเลือดเกิดจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน เป็นผลให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดไม่เพียงพอ หากรุนแรงก็ ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นบางส่วนได้ หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเสื่อมเกิดจากหลายปัจจัย รวมทั้งเรื่องของอายุด้วย ผู้สูงอายุ บางรายอาจไม่เคยมีอาการของโรคหัวใจขาดเลือด (คือ อาการแน่นหน้าอก) มาก่อนเลยก็ได้ หรือมีอาการน้อยจนไม่สังเกต (เพราะ ไม่ค่อยได้ออกแรง) การวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดที่ยังไม่มีอาการ จึงค่อน ข้างลำบากในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามา รบกวน ทำให้การตรวจพิเศษต่างๆไม่สามารถทำได้เต็มที่ การตรวจที่ดีที่สุดขณะนี้ คือ การฉีดสีดู หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ แต่ก็ไม่ได้จำเป็นในผู้ป่วยสูงอายุทุกราย เพราะบางครั้งผลการตรวจไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษา ไม่ได้ช่วยให้อายุยืนยาวขึ้น แนวทางการรักษาโรคหัวใจขาดเลือดในผู้สูงอายุก็เช่นเดียวกันกับการรักษาในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า คือ รักษาด้วยยา ควบคุมปัจจัยเสี่ยง ต่างๆ การขยายหลอด เลือดด้วยบอลลูน และหากมีความจำเป็นจริงๆก็ต้องผ่าตัดบายพาส ซึ่งเรื่องของอายุ ไม่ได้เป็นข้อห้าม ในการผ่าตัด เพียงแต่โอกาสเสี่ยงจากการผ่าตัดสูงขึ้น สำหรับผู้ป่วยสูงอายุบางราย การไม่ผ่าตัดนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าการผ่าตัด เสียอีก ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการพูดคุยกับแพทย์ที่รักษา อย่าลืมว่าแพทย์ทำหน้าที่ ให้คำแนะนำ ให้ความเห็นถึงแนวทางการรักษาที่ เขาคิดว่าดีที่สุด ในขณะที่ผู้ป่วยและญาติต่างหากที่เป็นผู้ตัดสินใจ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ผู้สูงอายุบางรายพบว่าหัวใจเกิดการเต้นผิดจังหวะขึ้น โดยที่บางครั้งก็ไม่มีสาเหตุหรือปัจจัยอื่นๆเกี่ยวข้อง นอกจากเรื่องของอายุ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่พบบ่อยคือจากห้องบน หรือที่เรียกว่า atrial fibrillation (AF) ชนิดนี้พบได้ในผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ ขาดเลือด โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจบางชนิด ความดันโลหิตสูง และพบบ่อยในผู้สูงอายุ ในผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นผิดปกติชนิดนี้ อาจเกิดลิ่มเลือดเล็กๆขึ้นภายในหัวใจ ลิ่มเลือดเล็กๆเหล่านี้อาจหลุดลอย ไปอุดหลอดเลือดเลี้ยงสมองได้ เป็นต้นเหตุของการเกิด อัมพฤกษ์ อัมพาต ขึ้น การรักษาอาจแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ รักษาโดยเปลี่ยนให้หัวใจกลับมาเต้น อย่างปกติ (ด้วยยา ไฟฟ้า หรือ คลื่นวิทยุ) หรือ รักษาด้วยยาเพียงคุมไม่ให้หัวใจเต้นเร็วเกินไปเท่านั้น บางรายจำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดร่วมด้วย ทั้งนี้ การรักษาในแต่ละรายจะขึ้นกับลักษณะของผู้ป่วยและแพทย์ผู้รักษาด้วย
ปัญหาหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุเป็นเรื่องของความเสื่อมที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็จริง แต่ปัจจุบัน เราก็มีการรักษาต่างๆที่อาจ ช่วยบรรเทาอาการและลดปัญหาแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเนื่องจากความเสื่อมนั้นๆลงได้ อย่างไรก็ตามการรักษาในผู้ป่วยสูงอายุ ไม่ว่าจะใช้วิธีใด ล้วนแต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษทั้งสิ้น ต้องระวัง ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการรักษาด้วย

วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2552

ความจริงเกี่ยวกับยา สแตติน


ผมมีโอกาสได้อ่านบทความในหนังสือสุดสัปดาห์ ฉบับหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนนำมาจากต้นฉบับหนังสือภาษาอังกฤษอีกเล่มหนึ่ง ผมอ่านแล้วบทความแล้วมีความรู้สึกว่า ผู้เขียนมองโลกในแง่ร้ายเกินไป และไม่ยอมรับกระบวนการวิจัยที่ดี รวมทั้งในบางประโยคยังให้ข้อมูลที่ผิดพลาดแก่ผู้อ่านอีกด้วย ผมเองในฐานะผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและติดตามผลการศึกษาของยาลดระดับไขมันในเลือดมานาน อีกทั้งมีประสบการณ์ใช้ยานี้ในผู้ป่วยคนไทยจำนวนมาก อยากจะให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เป็นกลาง
--ระดับไขมันคอเลสเตอรอลมีความสัมพันธ์กับอัตราเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งการตายจากโรคหัวใจอย่างชัดเจน ทั้งในประชากรตะวันตก และคนเอเชีย

--การลดระดับไขมัน แอล ดี แอล คอเลสเตอรอล ลงด้วยยากลุ่มสแตติน ได้ประโยชน์ในการลดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจตาย (heart attack) อัตราตายโดยรวมลงแน่นอน ทั้งในผู้ที่มีสุขภาพดียังไม่เป็นโรค และในผู้ที่เป็นโรคหัวใจแล้ว ทุกกลุ่มอายุ ทั้งเพศชายและหญิง สำหรับในคนไทยนั้นยังไม่มีการศึกษาเช่นนี้ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และ อาจเข้าข่ายผิดจริยธรรมวิจัยในคน จึงจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลการศึกษาจากต่างประเทศ เชื่อว่าเมื่อเกิดโรคขึ้นแล้วไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาติล้วนมีการดำเนินโรคหัวใจที่ไม่แตกต่างกัน

--ประโยชน์ของยาลดไขมันกลุ่มสแตตินไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีบอกได้ชัดเจนว่า ผู้ใดได้รับยาแล้วจะได้ประโยชน์ ผู้ใดไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้นคำแนะนำจึงต้องให้ทุกคนที่มีความเสี่ยง ในอนาคตอาจมีการศึกษาหา “ยีน” หรือ ตัววัดอื่นๆที่จะช่วยในการให้ยาให้ได้ประโยชน์มากขึ้น ตัวอย่างเช่นการตรวจ hs-CRP อาจเป็นดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งที่บอกว่า ผู้ที่แข็งแรงดีแต่มีค่านี้สูงอาจจะได้ประโยชนจากยาสแตตินมากกว่าผู้ที่ค่านี้ปกติ แต่อย่างไรก็ตาม hs-CRP ยังไม่ดีเพียงพอเนื่องจากมีหลายสาเหตุที่ทำให้ค่านี้ผิดปกติ

--การรับประทานยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตตินนอกจากช่วยให้ระดับไขมันในเลือดลดลงแล้ว (ตัวเลขดีขึ้นตามที่ผู้เขียนบทความอ้างถึง) ยังช่วยให้ไขมันที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจหยุดการสะสมหรือมีปริมาณลดลงได้ ในขณะที่การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่นการล้างพิษ ครูดตะกรัน (chelation) สมุนไพร ชีวจิต ไม่เคยมีการพิสูจน์เลยว่ามีผลดีต่อไขมันที่สะสมในหลอดเลือดหัวใจ

--ผลแทรกซ้อนจากยากลุ่มนี้มีเช่นเดียวกันกับยาทุกชนิด แม้แต่ยาสมุนไพร อย่างไรก็ตามผลแทรกซ้อนพบน้อยมาก น้อยกว่าร้อยละ 1 ยิ่งผลแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิตยิ่งแทบไม่พบในปัจจุบัน (ยาทุกตัวในกลุ่มนี้) ยกเว้นการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง ผลแทรกซ้อนที่พบบ่อยๆและบอกยากว่าเกิดจากยาหรือไม่ เช่น อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่ไม่รุนแรง ตะคริว เป็นต้น ผลแทรกซ้อนรุนแรงเช่นกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรง (rhabdomyolysis) พบน้อยมากในยาที่วางขายปัจจุบัน แต่จะพบได้มากขึ้นหากใช้ยาไม่ถูกต้อง

--ผลแทรกซ้อนทางตับ คือ การที่พบค่า enzyme ตับสูงกว่าปกติ ซึ่งกลไกยังไม่ชัดเจน พบได้น้อยกว่าร้อยละ 2 หยุดยาแล้วค่าเหล่านี้กลับมาเป็นปกติทุกราย ไม่เคยมีรายงานว่าทำให้ตับวายเสียชีวิต ยานี้ทำให้เกิดไขมันสะสมในตับหรือไม่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ยากเพราะผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงมักมีภาวะนี้ร่วมอยู่ก่อนการใช้ยาแล้ว และยากลุ่มนี้วางจำหน่ายนานกว่ายี่สิบปี ยังไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดตับแข็งตามที่ผู้เขียนอ้าง

วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552

โรคสะเก็ดเงิน กับ โรคหัวใจ








ใครจะไปคิดนะครับว่าโรคผิวหนังเรื้อรังอย่าง “สะเก็ดเงิน” จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เมื่อหลายปีก่อน ผมมีคนไข้อายุประมาณ 40 กว่าปี เป็นโรคสะเก็ดเงิน มีข้ออักเสบจากโรคนี้ร่วมด้วย มาพบผมด้วยอาการแน่นหน้าอก โดยทั่วไปแล้วอายุขนาดนี้ยังไม่น่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ หากเป็นก็มักจะตีบบางที่บางจุด แต่รายนี้ พบว่าตีบมากมายหลายจุด หลอดเลือดหัวใจเหลือเพียงเส้นเล็กๆ ไม่สามารถให้การรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจ หรือ แม้แต่การทำผ่าตัด ต้องรักษาด้วยยาอย่างเดียว...ผมก็งงอยู่หลายปีว่าเหตุใดผู้ป่วยรายนี้จึงรุนแรงกว่ารายอื่นๆที่พบ จนกระทั่งได้อ่านบทความสรุปจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ลงความเห็นใน American Journal of Cardiology ธันวาคม 2551 นี่เอง พบว่า โรคสะเก็ดเงิน มีความสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดหัวใจชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่อายุน้อย ความรู้นี้มาจากงานวิจัยที่ University of Pennsylvania สหรัฐอเมริกา ลงในวารสารการแพทย์ JAMA ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 เขาติดตามผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินเปรียบเทียบกับคนที่ไม่มีโรค พบว่าคนที่เป็นโรคสะเก็ดเงินมีความเสี่ยงต่อ “กล้ามเนื้อหัวใจตาย” หรือ heart attack มากขึ้น ยิ่งอายุน้อยและโรคสะเก็ดเงินรุนแรงยิ่งเสี่ยงมากขึ้นเป็น 3.1 เท่า มิน่า คนไข้ผมถึงได้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่รุนแรงขนาดนั้น กลไกเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรัง มีผลให้หลอดเลือดหัวใจมีการอักเสบและตีบง่ายขึ้นตามมา แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปถึงสาเหตุหรือกลไกที่แน่นอน คำแนะนำในปัจจุบัน คือ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่รุนแรง ควรได้รับการประเมินทางหัวใจด้วย แม้ว่าจะไม่มีอาการทางหัวใจก็ตาม และ ควรได้รับการดูแลเรื่องปัจจัยเสี่ยงอื่นๆอย่างเข้มงวด เช่น บุหรี่ ความดันโลหิต ไขมันโคเลสเตอรอล น้ำตาลในเลือด เป็นต้น...