โรคหลอดเลือดหัวใจ และ ปัจจัยเกี่ยวข้อง
คำว่าโรคหัวใจมีความหมายกว้าง เพราะจะหมายถึงความผิดปกติของหัวใจที่อาจเกิดได้ทุกระบบ ตั้งแต่ เยื่อหุ้มหัวใจ ลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ไฟฟ้าหัวใจ ไปจนหลอดเลือดหัวใจ ในบทความนี้จะเน้นเฉพาะโรคหัวใจที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบเท่านั้น
ทำไมหลอดเลือดหัวใจจึงตีบ
หลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเป็นหลอดเลือดแดง ผนังด้านในบุด้วยเซลชั้นเดียว เมื่อเกิดมาใหม่ๆ ผนังด้านในของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายจะสะอาด เสมือนท่อน้ำประปาที่เพิ่งเริ่มใช้งาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เซลบุผิวเริ่มเสื่อมสภาพและมีไขมันโคเลสเตอรอลเข้าไปสะสมอยู่ในชั้นผนังด้านในของหลอดเลือดหัวใจ ในระยะแรกของการสะสม หลอดเลือดหัวใจจะมีการปรับตัวขยายใหญ่ขึ้นเพื่อให้เลือดยังคงไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดี แต่หากยังคงมีการสะสมของไขมันโคเลสเตอรอลมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเกิดการตีบของหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่สะดวก เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการมักจะเจ็บแน่น จุก บริเวณหน้าอก หรือ ลิ้นปี่ อาจร้าวไปกราม ไหล่ แขนได้ มักจะเกิดขณะออกแรง เมื่อหยุดพักก็จะดีขึ้น แต่หากอาการรุนแรงมากอาจเกิดขึ้นขณะพักได้
กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือ Heart Attack เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจทันทีทันใดหรือภายในเวลาอันรวดเร็ว สิ่งที่อุดตันไม่ใช่ไขมันลอยไปอุด แต่เป็นลิ่มเลือดที่เป็นผลมาจากการแตกของตะกรันไขมันโคเลสเตอรอลที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันพบได้บ่อยในผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบไม่รุนแรง จึงไม่แปลกใจที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่ไม่เคยมีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจมาก่อน หรือแม้แต่ในผู้ที่มีผลการตรวจสุขภาพปกติก็ตาม กลไกการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) แตกต่างไปจากหลอดเลือดหัวใจที่ค่อยๆตีบ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ เกิดจากไขมันโคเลสเตอรอลที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจนั่นเอง ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก แม้จะมาถึงโรงพยาบาลแล้วก็ตาม ถึงจะรอดชีวิตแต่หากเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นบริเวณกว้าง หัวใจจะบีบตัวได้ไม่ดีเช่นเคย และ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) ตามมาในอนาคต
ทำไมจึงมีไขมันโคเลสเตอรอลสะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจ
ในวัยเด็กหลอดเลือดหัวใจจะสะอาดไม่มีไขมันสะสม แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน พบว่ามีไขมันไปสะสมอยู่ และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตามอายุ บางคนเพิ่มเร็ว บางคนเพิ่มช้า ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการสะสมของไขมันในหลอดเลือดหัวใจเร็วขึ้น เรียกว่า ปัจจัยเสี่ยง ความจริงแล้วการสะสมดังกล่าวเกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายไม่ใช่เฉพาะหลอดเลือดหัวใจเท่านั้น ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ มีดังนี้
อายุและเพศ หลอดเลือดแดงจะเกิดการเสื่อมสภาพตามอายุที่เพิ่มขึ้น ในเพศชายจะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเร็วกว่าเพศหญิงประมาณ 10 ปี เชื่อว่าเพราะเพศหญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยป้องกัน แต่อย่างไรก็ตามในสตรีวัยทอง การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนกลับไม่ได้ลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแต่ประการใด
พันธุกรรม ทุกโรคล้วนเกี่ยวข้องกับ “ยีน” ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม พันธุกรรมจึงตัวกำหนดที่สำคัญ ผู้ที่มีบิดา หรือ มารดา เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควร มีโอกาสที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสูงกว่าคนทั่วไป ในผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูงมากจากความผิดปกติทางพันธุกรรม หากไม่รับการรักษาจะเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นส่วนใหญ่
การสูบบุหรี่ สารหลายชนิดจากบุหรี่เป็นตัวเร่งให้หลอดเลือดแดงทั่วร่างกายเกิดการเสื่อมสภาพ ไม่เฉพาะหลอดเลือดหัวใจ แต่ยังรวมถึงหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงขา สมอง หรือ อวัยวะเพศชาย ด้วย จึงก่อให้เกิดโรคจำนวนมาก เมื่อหลอดเลือดแดงเสื่อมก็จะเกิดการตีบตามมาในที่สุด
อ้วนลงพุง เป็นปัจจัยที่พบมากขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย อ้วนลงพุง เป็นบ่อเกิดของความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตามมา
ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแดงที่ต้องรับแรงกระแทกจากความดันโลหิตสูงจะเกิดการเสื่อมสภาพได้ง่าย และเกิดการสะสมของไขมันโคเลสเตอรอลในผนังด้านในของหลอดเลือดแดงมากขึ้น
เบาหวาน การที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะทำให้หลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เกิดการเสื่อมได้เร็วมาก ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงตีบทั่วไป ทั้งหัวใจ สมอง ไต หรือ ขา นอกจากนั้นเบาหวานยังทำให้ไขมันในเลือดผิดปกติตามมาด้วย จึงเร่งการสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดง ผู้ป่วยเบาหวานในยุคปัจจุบันนี้ไม่ได้เสียชีวิตจากน้ำตาลอีกต่อไป แต่จะเสียชีวิตจากปัญหาโรคหลอดเลือดแดง เช่น โรคหัวใจ สมอง ไตวาย หรือ โรคติดเชื้อ
ไขมันในเลือดผิดปกติ ไขมันโคเลสเตอรอลสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมัน แอล ดี แอล โคเลสเตอรอลสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากในการก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพราะไขมันเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ไปสะสมในผนังของหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดการตีบ และหากเกิดการแตกของตะกรันไขมัน ก็จะเกิดการอุดตันจากลิ่มเลือดทันทีทันใด ซึ่งอันตรายมาก ไขมัน เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดดี ทำหน้าที่ขนถ่ายไขมันที่สะสมอยู่ออกมาทำลาย ดังนั้น ไขมันชนิดนี้ ยิ่งสูงยิ่งเป็นผลดี ในทางตรงกันข้ามหากต่ำจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการตีบของหลอดเลือดหัวใจ นอกจากไขมัน แอล ดี แอล โคเลสเตอรอลสูงแล้ว ในคนไทยยังพบว่า ไขมัน เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล ต่ำ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง
ปัจจัยที่ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงหลายประการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น อายุ เพศ พันธุกรรม แต่ปัจจัยเสี่ยงหลายข้อสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และ มีผลลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันลง ได้แก่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ออกกำลังกายมากขึ้น เช่น เดินมากขึ้น ทำงานบ้าน ฯลฯ การรับประทานผักผลไม้ ก็มีส่วนช่วยในการลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แม้กระทั่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณที่เหมาะสมก็ได้ประโยชน์ แต่เป็นสิ่งที่ไม่แนะนำเนื่องจากผลเสียด้านอื่นๆของแอลกอฮอล์ มีมากกว่าผลดีในการป้องกันโรคหัวใจ การหยุดบุหรี่แม้จะสูบมานานก็ช่วยลดปัญหาจากหลอดเลือดหัวใจเช่นกัน
ในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การควบคุมความดันโลหิต และ น้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติที่สุด จะช่วยลดปัญหาจากภาวะหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตก หลอดเลือดหัวใจตีบลงได้ สำหรับในเรื่องของไขมันในเลือดสูงนั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีข้อมูลการศึกษามากที่สุด ข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า การลดระดับไขมันโคเลสเตอรอล รวม และ แอล ดี แอล ดคเลสเตอรอล นั้นได้ประโยชน์ในการป้องกันปัญหาจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งในผู้ที่ยังไม่เคยมีโรคหลอดเลือดหัวใจมาก่อน หรือ ในผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจเกิดขึ้นแล้ว ไขมัน แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล ยิ่งต่ำยิ่งได้ประโยชน์ในการป้องกันผลแทรกซ้อนของโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการป้องกัน Heart Attack
จะเห็นได้ว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีปัจจัยหลายประการเกี่ยวข้อง ทั้งปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น อายุ เพศพันธุกรรมไปจนถึงปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ดังนั้นหลักการสำคัญในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ไม่อ้วน ไม่สูบบุหรี่ รับประทานผักผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันจากสัตว์ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากมีความดันโลหิตสูง น้ำตาลในในเลือดสูงหรือ ไขมันในเลือดสูงก็ควรควบคุมให้ปกติที่สุด และรับประทานยาต่อเนื่องหากจำเป็น
วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551
เสี่ยงแค่ไหน หัวใจคุณ Know Your Risk
ในวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน กันยายน องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็น "วันหัวใจโลก" ในปีนี้ตรงกับอาทิตย์ที่ 28 กันยายน 2551 มีคำขวัญว่า Know Your Risk หมายความว่า คุณทราบไหมว่า ตัวคุณเองมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณคนควรทราบ เพราะหากเราจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก ย่อมหมายความว่าโอกาสที่เราจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย (Heart Attack) ในอนาคตก็มีมากตามไปด้วย ยิ่งจำเป็นต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เกือบทั้งหมดสามารถแก้ไขให้ดีได้ด้วยตัวเอง และจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต
วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2551
หลักการควบคุมความดันโลหิตสูง
จะเห็นได้ว่า ผมตั้งหัวข้อว่า หลักการควบคุมความดันโลหิตสูง แทนที่จะเป็นการรักษา เพราะความเป็นจริง ความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่เกือบร้อยเปอร์เซนต์ ไม่สามารถจะรักษาให้หายขาดได้ครับ จำเป็นต้องดูแล รับประทานยากันตลอดชีวิต เช่นเดียวกันกับโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ครับ การรับประทานยานานๆเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ชอบครับ และ มีส่วนทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง
ทำไมต้องควบคุมความดันโลหิต เป็นเรื่องที่ต้องทราบเพราะหากผู้ป่วยเข้าใจเหตุผลแล้ว ผมเชื่อว่าผู้ป่วยจะยอมรับประทานยาไปตลอด การปล่อยให้มีความดันโลหิตสูงนานๆมีผลเสียต่อหลายอวัยวะครับ โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือด สมองและไต เช่น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพาต เลือดออกในสมอง ไตวาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนเอเชีย(ไทย)นั้น ความดันโลหิตสูงสัมพันธ์กับ เลือดออกในสมองอย่างชัดเจนครับ
ที่สำคัญคือ การศึกษายืนยันแล้วว่า การลดความดันโลหิตลงมาแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถลดการเกิดอัมพาต โรคหัวใจลงได้ชัดเจน การลดความดันโลหิตเพียงแค่ 2 มิลลิเมตรปรอท จะลดอัตราการตายจากโรคหัวใจ ลง 7 % และลดอัตราการตายจากโรคสมอง 10% ดังนั้นหากควบคุมให้ปกติที่สุด ก็จะช่วยป้องกันโรคหัวใจและอัมพาตจากหลอดเลือดสมองแตกได้มากนะครับ
ทำไมผู้ป่วยถึงไม่อยากรับประทานยาต่อเนื่อง คงมีหลายเหตุผล เช่น ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องรับประทานยา หรือ จำนวนเม็ดมาก หรือ ลืม หรือ มีผลแทรกซ้อนจากยาจนทำให้ไม่อยากรับประทาน
การควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ 140/80 มม.ปรอม (130/80 มม.ปรอทในผู้ป่วยเบาหวาน หัวใจ ไตเสื่อม) เป็นตัวเลขเป้าหมายครับ จากการศึกษาต่างๆพบว่าการควบคุมความดันโลหิตให้ได้ดีขนาดนั้นมีความจำเป็นต้องใช้ยาลดความดันโลหิต เฉลี่ย 2-3 ตัวขึ้นไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ป่วยแต่ละคนได้รับยาหลายเม็ด ยิ่งมีหลายโรคร่วมกันจำนวนเม็ดยายิ่งเพิ่มขึ้น
เรื่องผลแทรกซ้อน หรือ ผลข้างเคียงจากยาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ยาลดความดันโลหิตแทบทุกชนิดมีผลข้างเคียง แต่ในขณะเดียวกัน การไม่ควบคุมความดันโลหิต ก็เป็นผลเสียร้ายแรงเช่นกัน ปัจจุบันแพทย์พยายามช่วยผู้ป่วยโดยเลือกใช้ยาลดความดันโลหิตที่มีผลข้างเคียงน้อยที่สุดอยู่แล้วครับ เช่น ยากลุ่มที่เรียกว่า Angiotensin Receptor Blockage หรือตัวย่อ ARB เป็นยาลดความดันโลหิตที่ดีและผลข้างเคียงต่ำมากๆ เสียแต่ราคาแพง หรือ ยากลุ่ม Calcium Channel Blocker (CCB) ก็เป็นอีกกลุ่มที่ลดความดันโลหิตได้ดี แต่หากให้ขนาดสูงอาจจะทำให้เท้าบวมได้
ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันยังมีการนำเอายาลดความดันโลหิต 2 ชนิด เช่น ARB รวมกับ CCB ในเม็ดเดียวกัน เพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วยมาก จำนวนเม็ดยาจะน้อยลงครับ โดยที่ราคาไม่แพงขึ้น ยาแบบนี้บ้านเราก็มีจำหน่ายแล้วเช่นกันครับในชื่อการค้า Exforge
ทำไมต้องควบคุมความดันโลหิต เป็นเรื่องที่ต้องทราบเพราะหากผู้ป่วยเข้าใจเหตุผลแล้ว ผมเชื่อว่าผู้ป่วยจะยอมรับประทานยาไปตลอด การปล่อยให้มีความดันโลหิตสูงนานๆมีผลเสียต่อหลายอวัยวะครับ โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือด สมองและไต เช่น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพาต เลือดออกในสมอง ไตวาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนเอเชีย(ไทย)นั้น ความดันโลหิตสูงสัมพันธ์กับ เลือดออกในสมองอย่างชัดเจนครับ
ที่สำคัญคือ การศึกษายืนยันแล้วว่า การลดความดันโลหิตลงมาแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถลดการเกิดอัมพาต โรคหัวใจลงได้ชัดเจน การลดความดันโลหิตเพียงแค่ 2 มิลลิเมตรปรอท จะลดอัตราการตายจากโรคหัวใจ ลง 7 % และลดอัตราการตายจากโรคสมอง 10% ดังนั้นหากควบคุมให้ปกติที่สุด ก็จะช่วยป้องกันโรคหัวใจและอัมพาตจากหลอดเลือดสมองแตกได้มากนะครับ
ทำไมผู้ป่วยถึงไม่อยากรับประทานยาต่อเนื่อง คงมีหลายเหตุผล เช่น ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องรับประทานยา หรือ จำนวนเม็ดมาก หรือ ลืม หรือ มีผลแทรกซ้อนจากยาจนทำให้ไม่อยากรับประทาน
การควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ 140/80 มม.ปรอม (130/80 มม.ปรอทในผู้ป่วยเบาหวาน หัวใจ ไตเสื่อม) เป็นตัวเลขเป้าหมายครับ จากการศึกษาต่างๆพบว่าการควบคุมความดันโลหิตให้ได้ดีขนาดนั้นมีความจำเป็นต้องใช้ยาลดความดันโลหิต เฉลี่ย 2-3 ตัวขึ้นไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ป่วยแต่ละคนได้รับยาหลายเม็ด ยิ่งมีหลายโรคร่วมกันจำนวนเม็ดยายิ่งเพิ่มขึ้น
เรื่องผลแทรกซ้อน หรือ ผลข้างเคียงจากยาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ยาลดความดันโลหิตแทบทุกชนิดมีผลข้างเคียง แต่ในขณะเดียวกัน การไม่ควบคุมความดันโลหิต ก็เป็นผลเสียร้ายแรงเช่นกัน ปัจจุบันแพทย์พยายามช่วยผู้ป่วยโดยเลือกใช้ยาลดความดันโลหิตที่มีผลข้างเคียงน้อยที่สุดอยู่แล้วครับ เช่น ยากลุ่มที่เรียกว่า Angiotensin Receptor Blockage หรือตัวย่อ ARB เป็นยาลดความดันโลหิตที่ดีและผลข้างเคียงต่ำมากๆ เสียแต่ราคาแพง หรือ ยากลุ่ม Calcium Channel Blocker (CCB) ก็เป็นอีกกลุ่มที่ลดความดันโลหิตได้ดี แต่หากให้ขนาดสูงอาจจะทำให้เท้าบวมได้
ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันยังมีการนำเอายาลดความดันโลหิต 2 ชนิด เช่น ARB รวมกับ CCB ในเม็ดเดียวกัน เพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วยมาก จำนวนเม็ดยาจะน้อยลงครับ โดยที่ราคาไม่แพงขึ้น ยาแบบนี้บ้านเราก็มีจำหน่ายแล้วเช่นกันครับในชื่อการค้า Exforge
วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2551
ความดันโลหิตสูง : ฆาตกรเงียบ
การที่เลือดไหลเวียนในร่างกายได้นั้น เกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ไล่เลือดออกจากหัวใจไปอยู่ในหลอดเลือดแดงเพื่อนำอาหารและอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงเซลต่างๆ แรงดันที่เกิดขึ้นในหลอดเลือดนี่เอง ที่เราเรียกความ แรงดันเลือด หรือ ความดันโลหิต ซึ่งมีสองค่าเสมอ คือ ตัวบน (หัวใจบีบตัว) และ ตัวล่าง (หัวใจคลายตัว) เช่น 130/80 หน่วยนับของความดันโลหิตที่นิยมใช้กันคือ มิลลิเมตรปรอท
ความดันโลหิต ที่"ปกติ" เป็นเท่าไหร่ ความจริงแล้วอยากเรียนว่าไม่มีค่าที่ปกติจริงๆคือ ไม่มีขาว ดำ ไม่มีปกติ ผิดปกติ แต่เป็นค่าที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนดขึ้นว่า ค่าความดันโลหิต ควรจะเป็นเท่าไหร่ถึงจะปลอดภัยที่สุดมากกว่า สรุปง่ายๆคือ
ค่าที่เหมาะสมที่สุด คือ น้อยกว่า 120/80 มม.ปรอท
ค่าที่ยอมรับได้ 130/85 มม.ปรอท
เริ่มๆจะสูง 130-139/85-89 มม.ปรอท ค่านี้ถือว่า "ไม่ปกติ" เพราะจากการติดตามกลุ่มที่มีความดันโลหิตระดับนี้ไปนานๆ พบว่ากลายเป็นความดันโลหิตสูง และมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง มากกว่าคนที่ความดันโลหิต 120/80 มม.ปรอท อย่างชัดเจน จึงเป็นกลุ่มที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ
จะถือว่ามีความดันโลหิตสูงเมื่อค่ามากกว่า 140/90 มม.ปรอท
ความดันโลหิตสูง ไม่จำเป็นต้องมีอาการ ทราบได้จากการวัดความดันโลหิตเท่านั้น ผู้ป่วยบางรายไม่เคยตรวจสุขภาพไม่เคยวัดความดันโลหิตมาก่อน เพราะคิดว่าสบายดี กว่าจะรู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูงก็เกือบสายไปแล้ว ดังนั้น จึงเปรียบเทียบความดันโลหิตสูงเสมือนฆาตกรเงียบ silent killer ที่ทำลายอวัยวะสำคัญๆในร่างกาย ทั้งหลอดเลือดสมอง หัวใจ ไต ตา หลอดเลือดแดงใหญ่ กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานหนักมากอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้....
ตรวจสุขภาพ วัดความดันโลหิตเสียแต่วันนี้ หากพบว่ามีความดันโลหิตสูง ควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้ไม่หายขาด อย่าหยุดยาเอง การละเลยไม่รักษาอาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรง เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดแดงใหญ่แตก หลอดเลือดสมองแตก เป็นต้น
"โรคหัวใจ" คำนี้มีความหมายมากมายนัก
ผมเจอคำถามบ่อยครั้งว่า "เป็นโรคหัวใจ หรือเปล่าครับ" เป็นคำถามที่ตอบยากมากหากจะตอบให้ถูกต้อง เพราะคำว่าโรคหัวใจในความหมายของหมอนั้นมันมีมากมาย แต่ โรคหัวใจในความหมายคนไข้นั้น มีไม่กี่โรคเองครับ แถมบางโรคที่คนไข้คิดว่าเป็นโรคหัวใจ ก็ไม่ใช่โรคสักหน่อย....
โรคหัวใจ ในความหมายหมอ จะแบ่งตามระบบหรือกายวิภาคของหัวใจครับ ไล่ไปตั้งแต่ โรคเยื่อหุ้มหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ (ตีบ รั่ว) โรคหัวใจพิการหรือผิดปกติแต่กำเนิด โรคระบบไฟฟ้าหัวใจ นี่เป็นโดยกลุ่มใหญ่ๆนะครับ ที่สำคัญคือ ความผิดปกติของส่วนใด หรือ ระบบใด ก็จะไปมีผลต่อระบบอื่นๆได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย (heart attack) ทำให้ระบบไฟฟ้าหัวใจแปรปรวน เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง (VF) เสียชีวิตได้ หรือ ผลของกล้ามเนื้อหัวใจที่ทำงานน้อยลง บีบตัวน้อยลง เกิดปัญหาภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) ตามมา เป็นต้น
บางที คนไข้ถามมา ว่าเป็นหรือไม่เป็น หมอก็ คงตอบได้เพียงว่า ไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง (ตีบน้อยๆ ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนนะครับ จากการตรวจทั่วไป) หรือ ไม่เป็นโรคลิ้นหัวใจรุนแรง หรือ กล้ามเนื้อหัวใจปกติดี อะไรแบบนั้น แต่จะบอกว่า หัวใจทั้งดวงปกติ คงยากเพราะความผิดปกติเล็กๆน้อยๆซ่อนอยู่โดยไม่แสดงอาการก็เป็นได้ครับ.....
โรคหัวใจ ในความหมายหมอ จะแบ่งตามระบบหรือกายวิภาคของหัวใจครับ ไล่ไปตั้งแต่ โรคเยื่อหุ้มหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ (ตีบ รั่ว) โรคหัวใจพิการหรือผิดปกติแต่กำเนิด โรคระบบไฟฟ้าหัวใจ นี่เป็นโดยกลุ่มใหญ่ๆนะครับ ที่สำคัญคือ ความผิดปกติของส่วนใด หรือ ระบบใด ก็จะไปมีผลต่อระบบอื่นๆได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย (heart attack) ทำให้ระบบไฟฟ้าหัวใจแปรปรวน เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง (VF) เสียชีวิตได้ หรือ ผลของกล้ามเนื้อหัวใจที่ทำงานน้อยลง บีบตัวน้อยลง เกิดปัญหาภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) ตามมา เป็นต้น
บางที คนไข้ถามมา ว่าเป็นหรือไม่เป็น หมอก็ คงตอบได้เพียงว่า ไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง (ตีบน้อยๆ ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนนะครับ จากการตรวจทั่วไป) หรือ ไม่เป็นโรคลิ้นหัวใจรุนแรง หรือ กล้ามเนื้อหัวใจปกติดี อะไรแบบนั้น แต่จะบอกว่า หัวใจทั้งดวงปกติ คงยากเพราะความผิดปกติเล็กๆน้อยๆซ่อนอยู่โดยไม่แสดงอาการก็เป็นได้ครับ.....
วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2551
เริ่มต้น Blog หัวใจกับหมอหัวใจ
ก่อนอื่นเลย ผมมีความคิดที่จะเขียน blog แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่รู้จะเขียนแนวไหนดี สุดท้ายก็คงไม่พ้นเรื่องราวรอบตัว เรื่องราวเกี่ยวกับโรคหัวใจ ตั้งใจอยากจะเขียนแบบสบายๆ ไม่วิชาการจนเกินไป แต่ก็คงมีปนเปบ้าง เผื่อมีคนเข้ามาอ่าน จะได้รับความรู้บ้างนะครับ แต่ก็ต้องเข้าใจเรื่องข้อจำกัดในการให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสุขภาพ โรค เช่นกัน การที่จะให้ความเห็นแต่ละเรื่องได้นั้น บางเรื่องก็ง่ายๆครับ แต่บางเรื่องยากมากเพราะต้องมีข้อมูลประกอบแยะมั๊กๆ ร่างกายคนเรามันไม่ใช่ 1+1 = 2 แถมแต่ละคนแม้โรคเดียวกันก็มีรายละเอียดต่างกันมาก คำแนะนำหรือความเห็นจึงแตกต่างกันไปครับ หวังว่าคงเข้าใจนะครับ สำหรับวันนี้แค่นี้ก่อน สุดสัปดาห์นี้ผมจะไปฮ่องกงครับ มีการประชุมความรู้เกี่ยวกับยารักษาความดันโลหิตสูงกลุ่มใหม่ มีอะไรน่าสนใจผมจะเข้ามาเล่านะครับ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)