วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

วิตามิน E และ C ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด




วันนี้มีเรื่องมาเล่าให้ฟังครับ แต่เดิมมีความเชื่อกันว่า การรับประทาน vitamin E และ C อาจช่วยในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทั้งนี้มาจากพื้นฐานที่ว่า ทั้ง vitamin E และ C มีฤทธิ์ในการเป็น anti-oxidant ต้านอนุมูลอิสระ น่าจะช่วยป้องกันโรคได้ จึงมีการศึกษาวิจัยกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยการสนับสนุนจากองค์กรอิสระในสหรัฐอเมริกา มีการรายงานผลการวิจัยนี้สดๆร้อนๆในที่ประชุมวิชาการประจำปีของ American Heart Association เมื่อต้นเดือน พฤศจิกายน ที่ผ่านมาครับ และลงพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำน่าเชื่อถืออย่าง JAMA (JAMA2008;300:2123)

การศึกษานี้เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 โดยทำในอาสาสมัครแพทย์เพศชาย (อเมริกัน) กว่า 14,641 คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นสองกลุ่มกลุ่มหนึ่งได้รับยาหลอก และ อีกกลุ่มได้รับ vitamin E 400 ยูนิตวันเว้นวัน ร่วมกับ vitamin C 500 มก.ทุกวัน ติดตามไปนานกว่า 8 ปี พบว่าอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่แตกต่างกันเลยระหว่างกลุ่มที่ได้รับยาจริงกับยาหลอก นั่นหมายความว่า การรับประทาน vitamin E และ C ไม่ได้ประโยชน์ในแง่การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่สำคัญมากๆคือ vitamin E เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเลือดออกในสมองขึ้น 1.74 เท่า (หรือ 74%) ซึ่งก็ไม่น้อยเลยครับ

ผมว่าอะไรที่พิสูจน์แล้วว่าไม่มีประโยชน์ แถมยังมีโทษก็ควรจะเลิกใช้นะครับ

วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ใบแปะก๊วย Ginkgo ป้องกันสมองเสื่อม ได้จริงหรือ?





อย่างที่หลายๆท่านทราบดีว่า มีการโฆษณากันอย่างแพร่หลายถึงสรรพคุณของ ใบแปะก๊วย ว่าช่วยเรื่องความจำช่วยป้องกันสมองเสื่อม รวมทั้งประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย มีการจำหน่ายกันอย่างมากในรูปอาหารเสริม แคปซูล สามารถวางขายได้ทั่วไป รวมทั้งการขายตรง เนื่องจากไม่จัดเป็นยา อย.ประเทศเราขึ้นทะเบียนเป็นอาหารเสริมเช่นเดียวกันกับ อย. สหรัฐอเมริกา (US FDA)
เมื่อมีคำถาม ทางที่ดีที่สุด คือ การศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ เพื่อตอบคำถามนั้นๆ นี่เป็นวิธีการคิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการทดลอง พิสูจน์ให้เห็นจริง แต่การศึกษาวิจัยที่ดีนั้น จะต้องเป็นการศึกษาในคน และ เป็นการศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มคนที่เหมือนๆกัน แบ่งครึ่งหนึ่งได้รับสารนั้น อีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอก (สารแป้ง) แล้วมาดูว่า ผลดีของยาเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แตกต่างจากยาหลอกหรือไม่ การศึกษาแบบนี้เท่านั้นจึงจะน่าเชื่อถือและยอมรับสำหรับวงการแพทย์ปัจจุบัน

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 นี้เองครับ มีการรายงานในวารสารการแพทย์ชั้นนำ (JAMA 2008:300;2253) เป็นการรายงานผลการศึกษาผลของใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba) โดยศึกษาในกลุ่มประชากรอเมริกัน โดยศูนย์การแพทย์ทั้งหมด 5 แห่งร่วมมือกันครับ ระหว่างปี ค.ศ.2004-2008 มีอาสาสมัครเข้าโครงการนี้ 3069 คน อายุ 75 ปีขึ้นไป ไม่มีอาการทางสมองมาก่อน แม้ว่าจะมีโรคประจำตัวอื่นๆอยู่บ้าง แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม เท่าๆกัน โดยลักษณะโรคต่างๆคล้ายกัน กลุ่มหนึ่งได้รับ Ginkgo สกัดขนาด 120 มก.วันละสองครั้ง อีกกลุ่มหนึ่งได้รับยาหลอก ติดตามไปนานกว่า 6 ปี แล้วนำมาทดสอบเรื่องความจำ และโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer Disease) ผลปรากฎว่า.... ใบแปะก๊วยสกัด ไม่ได้ช่วยป้องกันสมองเสื่อม หรือ โรคอัลไซเมอร์ เลย มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มว่ามีจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่พบผลเสียร้ายแรงจากใบแปะก๊วยสกัด

ก็นำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ ผมอยากจะเน้นว่า เวลาฟังข่าว ไม่ว่าจะสื่อไหนๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งดี เจ วิทยุ) ต้องดูให้ดีว่าเป็นการศึกษาแบบไหน มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน อย่าเชื่อใครง่ายๆครับ.....

วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

แพทย์ทางเลือก ดีจริงหรือ ?





ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงก่อนครับว่า บทความนี้มิได้ดูถูกแพทย์ทางเลือก แต่อยากให้มุมมองจากแพทย์แผนปัจจุบันว่าแพทย์ทางเลือกนั้นมีปัญหาอะไรบ้าง ทำไมแพทย์ปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่ยอมรับแพทย์ทางเลือก

คำว่าแพทย์ทางเลือก หรือ Alternative medicine น่าจะหมายความถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยไม่ใช่แพทย์แผนปัจจุบัน จึงรวมถึง การรักษาด้วยอาหารชีวจิต สมุนไพร ล้างพิษ (detox) ไปจนถึงการฝังเข็ม

ทัวร์ ชีวจิต ล้างพิษ


มีการจัดทัวร์เพื่อการนี้เป็นเฉพะอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เสียค่าใช้จ่ายไม่น้อย หลักการสำคัญคือ การงดอาหารเนื้อสัตว์ แป้ง รับประทานแต่ผักผลไม้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อตรวจเลือดหรือชั่งน้ำหนักหลังจากทัวร์ ย่อมมีค่าต่างๆเปลี่ยนไปในทางดีขึ้น ทำให้สามารถนำไปโฆษณาต่อได้ การที่ผลเลือดเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนั้นไม่น่าแปลกใจเลย เพราะรับประทานแต่อาหารที่มีไขมันต่ำ แป้งก็เป็นข้าวกล้องซึ่งดีต่อสุขภาพ อาหารที่รับประทานก็ลดลง น้ำหนักตัวจึงลดลง ถามว่าอาหารแบบนี้ดีจริงหรือ คำตอบ คือ ดีจริงๆ อาหารไขมันต่ำเป็นประโยชน์ต่อหลอดเลือด แต่ปัญหาคือ จะสามารถนำไปปฎิบัติเช่นนี้ได้ทุกวันไหม คำตอบคือส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ (ถ้าทำได้เองคงไม่ต้องมาซื้อทัวร์ล้างพิษ) คนส่วนมากเข้าใจว่า มารับประทานเป็นครั้งคราวแบบนี้ได้ประโยชน์ เป็นการล้างพิษ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว “พิษ”คือ อะไร ไม่มีใครอธิบายได้ แล้วการกระทำเช่นนี้ มีการขับ “พิษ” ออกจากร่างกายจริงหรือ ก็ไม่มีตัววัดที่พิสูจน์ได้ชัดเจน เช่นเดียวกันกับการสวนลำไส้ด้วยกาแฟ ที่เรียกว่า การทำ ดีท๊อก มาจากคำว่า detoxification ซึ่งก็ความหมายเดียวกันกับ ล้างพิษ นั่นเอง น้ำกาแฟที่ใส่เข้าไปในลำไส้ใหญ่ ไม่สามารถดึงเอาสารพิษออกจากร่างกายได้ และเช่นเดียวกันว่า ไม่เคยมีการตรวจวัด “สารพิษ” ที่ออกมากับน้ำกาแฟดังกล่าวเลย จึงเป็นเพียง ความเชื่อเท่านั้น อันตรายจากการทำ detox คือ การใช้น้ำที่ร้อนเกินไป มีผู้ป่วยหลายรายแล้วที่ต้องมานอนรพ.เนื่องจาก ลำไส้ทะลุ ลำไส้อักเสบ หรือ ติดเชื้อในกระแสโลหิตภายหลังการทำ detox ทั้งนี้เนื่องจากเยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่บอบบาง การทำ detox ก็เสมือนการลวกลำไส้นั้นเอง ย่อมเกิดการบวมอักเสบ เป็นแผล บริเวณนั้นมีเชื้อโรคมากอยู่แล้วจึงมีโอกาสซึมเข้ากระแสเลือด ผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ก็ยังมีคนเชื่อ คนทำกันสม่ำเสมอด้วยความเชื่อว่ามีประโยชน์ ทั้งๆที่ไม่เคยมีการพิสูจน์ว่าได้ประโยชน์

สมุนไพร ภูมิปัญญาชาวบ้าน


ผมคนหนึ่งที่ไม่ชอบคำว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านหรือ ภูมิปัญญาไทย เท่าไหร่ เพราะทุกครั้งที่ให้ความเห็นเรื่องสมุนไพรในทางลบ ก็จะเสมือนไปดูถูกชาวบ้านหรือคนไทย ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น ความจริงรากเหง้าของยาแผนปัจจุบัน ก็มาจากสมุนไพร หรือ จากพืช สัตว์ แต่เมื่อทราบสูตรทางเคมีแล้วจึงมีการสังเคราะห์ขึ้นใหม่ เกิดเป็นยาขึ้น ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่าสมุนไพรไม่ดี แต่ การรักษาด้วยสมุนไพร มีข้อจำกัดมากมาย มีคำถามเกิดขึ้น เช่น สมุนไพรชนิดเดียวกัน แต่ปลูกคนละแห่งจะมีสารออกฤทธิ์เท่ากันหรือไม่ จะต้องใช้ขนาดเท่าไหร่จึงจะพอเหมาะ นานแค่ไหน การผสมสมุนไพรหลายชนิดในยาต้มยาหม้อนั้น เกิดการตีกันระหว่างสารออกฤทธิ์หรือไม่ มีผลเสียอะไรบ้าง แล้วผลดี ได้รับการพิสูจน์โดยการทดลองหรือไม่ ว่าสมุนไพรได้ประโยชน์จริงๆ ทำไมจึงใช้รักษาโรคได้ครอบจักรวาล ทั้งๆที่แต่โรคมีความผิดปกติต่างกัน คำถามหลายคำถามไม่มีคำตอบ แต่ที่แน่ๆเลย คือ สมุนไพรมีโทษ อย่าคิดว่าของจากธรรมชาติไม่มีโทษนะครับ สมุนไพรไทยอย่างใบขี้เหล็ก ทางองค์การเภสัชได้นำมาบรรจุเป็นเม็ดจำหน่าย ช่วยให้นอนหลับ แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกไป เพราะมีรายงานตับอักเสบจากสมุนไพรนี้หลายราย(แม้แต่องค์กรรัฐยังเชื่อถือไม่ได้) หรือ สมุนไพรจีนมีรายงานว่าทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น เป็นต้น แต่สมุนไพรก็ยังมีประโยชน์เช่นสมุนไพรจีน นำมาใช้รักษามาเลเรียได้ผลดี ดังนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่ สมุนไพรนั้นๆได้ผ่านการพิสูจน์ ทดลองอย่างเป็นระบบ แล้วหรือไม่ ได้ประโยชน์จริงไหมและมีโทษอะไรบ้าง หากสมุนไพรได้ผ่านการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าในปัจจุบัน

การฝังเข็ม


แตกต่างจากเรื่องสมุนไพร เพราะการฝังเข็มได้มีการศึกษา ทดลอง พิสูจน์ให้เห็นจริงๆว่าได้ประโยชน์ ในบางเรื่อง ที่เด่นชัดคือ ฝังเข็มเพื่อลดอาการเจ็บปวด สามารถผ่าตัด หรือ ถอนฟันได้โดยไม่ต้องใช้ยาชาหรือยาสลบ สำหรับการฝังเข็มเพื่อรักษาโรคอื่นๆ (ซึ่งแพทย์ฝังเข็มอ้างว่ารักษาได้ทุกโรค แม้แต่โรคหัวใจ !) กลับไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าได้ผลจริงๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทำการศึกษาได้ยาก อีกประการหนึ่งคือ ขึ้นกับฝีมือคนทำด้วย (แตกต่างจากการศึกษาเรื่องยา) ดังนั้น ในความเห็นผม ฝังเข็มได้ประโยชน์เฉพาะเรื่องการลดความเจ็บปวดเท่านั้น

การครูดตะกรัน หรือ Chelation


ก็ไม่แน่ใจว่าควรจะนับเป็นแพทย์ทางเลือกไหม เพราะจริงๆแล้วเป็นการให้ “ยา”ทางหลอดเลือดดำ ด้วยความเชื่อว่า ยาที่ให้นั้น จะไปลอกครูด เอาของเสียออกจากร่างกาย มีการแนะนำอย่างเป็นล่ำเป็นสันในบางคลินิก โดยอ้างว่า ทำให้หลอดเลือดหัวใจสะอาดขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ไม่มีการศึกษาพิสูจน์ว่าเป็นจิงแม้แต่น้อย คนไข้ผมรายหนึ่งทำ chelation มานาน สุดท้ายก็เกิด heart attack อยู่ดี

แพทย์แผนปัจจุบันมีข้อดีตรงที่ การรักษาด้วยยาต่างๆหรือ คำแนะนำต่างๆ ส่วนมากแล้วจะผ่านการศึกษาวิจัยอย่างมีระบบ พิสูจน์ให้เห็นว่าการได้รับยาได้ประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าการที่ไม่ได้รับยานั้น ตัวอย่างเช่น การลดระดับไขมันในเลือดด้วยยากลุ่ม statins ได้รับการพิสูจน์จากหลายการศึกษา รวมคนที่ศึกษากว่า 100,000 คน ก็พบประโยชน์ชัดเจนในการป้องกัน heart attack มีคนใช้ยานี้หลายล้านคนเป็นเวลาหลายปี โดยมีผลเสียจากยาน้อยมาก น้อยกว่า1% แต่กระนั้นก็ตาม เวลาบอกให้ผู้ป่วยรับประทานยา กลับไม่ยอมรับประทานยา กลับไปเชื่อเรื่องสมุนไพร เรื่องล้างพิษ เรื่องครูดตะกรัน ทั้งๆสิ่งเหล่านั้นไม่เคยได้รับการพิสูจน์ด้วยซ้ำว่าดีจริง